กรมชลประทาน 3 พ.ค. – สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติระบุเตรียมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย พร้อมสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำและแจ้งแผนรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2561 โดยที่ประชุมได้พิจารณาการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากปี 2561 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.จัดทำระบบคาดการณ์ โดยรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานมาวิเคราะห์ เช่น ปริมาณน้ำฝน ข้อมูลน้ำท่า ข้อมูลน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง
ทั้งนี้ มีการประเมินพื้นที่ต่าง ๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยตามอิทธิพลของมรสุมช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ได้แก่ น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี จันทบุรี พังงา เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2561 ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2561 ได้แก่ ลำปาง พิษณุโลก เดือนสิงหาคม-กันยายน ได้แก่ แพร่ สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี เดือนกันยายน-ตุลาคม 2561 ได้แก่ แพร่ สุโขทัย ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2561 ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สงขลา และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติมอบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ 4 มาตรการหลักรองรับสถานการณ์ล่วงหน้า คือ 1.การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ให้เหมาะสม และสามารถรองรับปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนได้ เบื้องต้นพบว่ามีปริมาณน้ำเก็บกักเฉลี่ย ร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ และให้พิจารณาจัดตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 2.การชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลาง 13 ทุ่ง สามารถรองรับน้ำได้รวม 2,050 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน พื้นที่ทุ่งบางระกำ 382,000 ไร่ ซึ่งเกษตรกรเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 และจะเก็บเกี่ยวเสร็จก่อนเดือนสิงหาคม โดยจะรับน้ำเข้าทุ่งประมาณกลางเดือนสิงหาคมสามารถหน่วงน้ำได้ 550 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ เริ่มเพาะปลูก 1 พฤษภาคม 2561 เก็บเกี่ยวเสร็จประมาณ 15 กันยายน 2561 เริ่มรับน้ำเข้าทุ่ง ระหว่าง 20 กันยายน – 20 ตุลาคม 2561 สามารถหน่วงน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. โดยเน้นย้ำให้นำประเด็นปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินการในปีที่ผ่านมามาพิจารณาดำเนินการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3. การสำรวจสิ่งก่อสร้าง และอุปสรรคที่กีดขวางทางน้ำ และแผนรองรับให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก และ 4. สำรวจและเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเรือ ให้พร้อมใช้งาน โดยร่วมกันบูรณาการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบกรณีเกิดภัยโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงข้างต้นด้วย อย่างไรก็ตาม สทนช.จะติดตามสถานการณ์น้ำและผลการดำเนินงานแต่ละแผนงานอย่างใกล้ชิดต่อไป.-สำนักข่าวไทย