กทม. 2 พ.ค. – หลังคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของกระทรวงศึกษาธิการ ใช้เวลาสืบเกือบ 2 เดือน ล่าสุดได้ข้อสรุปความเสียหายทั้งหมด รวมถึงกลโกงหรือช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริต
กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตตั้งขึ้นปี 2542 เพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน ด้อยโอกาส ให้มีทุนการศึกษา ป้องกันปัญหาตกเขียว 6 ปีให้หลังเกิดการทุจริตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนานนับ 13 ปี มีการโกงเงินรวมทั้งหมด 77 ล้านบาท
ตั้งแต่ปี 2548-2561 มีการโอนเงินกองทุน 34 ครั้ง เป็นเงิน 240 ล้านบาท โอนเงินถูกต้อง 134 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ส่วนที่เหลือคือโอนไม่ถูกต้อง บางส่วนทุจริตแล้วหมุนเงินทดแทน และทุจริตยักยอกเงิน 77 ล้านบาท โดยรูปแบบใช้วิธีปลอมแปลงเอกสารเท่านั้น โดยใช้บัญชีบุคคลภายนอก ปลอมบัญชีสถานศึกษาเบิกซ้ำ และเบิกก่อนกำหนดโดยไม่มีเหตุผล
สาเหตุที่ทำให้เกิดทุจริต คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องละเลย อนุมัติโดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง เชื่อบุคคลมากกว่าข้อมูล มีการลงนามโอนเงินไว้ล่วงหน้า ลงนามหนังสือฉบับดียวให้เจ้าหน้าที่ตัดต่อและงานสารบรรณไม่เข้มแข็ง นอกจากนางรจนา สินที มีผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการนับสิบราย เป็นทั้งระดับปฏิบัติการและระดับสูง เตรียมเสนอรัฐมนตรีศึกษาเอาผิดทางวินัยและทางละเมิด 7 พ.ค.นี้
ส่วนการเยียวยา สถานศึกษาที่ได้รับเงินกองทุน มี 3 กลุ่ม ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาล 26 แห่ง มีนักศึกษาได้รับผลกระทบ 198 คน ยอดเงินค้างจ่าย 12 ล้านบาท โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 แห่ง มีครูอัตราจ้างได้เงินไม่ครบ 53 คน ยอดเงินค้างจ่าย 7.9 ล้านบาท และ กศน. จังหวัด 3 แห่งได้เงินครบ สรุปยอดเงินที่ต้องเยียวยา 19 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขดอกเบี้ยในบัญชีมีกว่า 49 ล้านบาท คาดทยอยจ่ายคืนให้เด็กและครูได้เร็วๆนี้ ซึ่งถือว่าการสืบข้อเท็จจริงคืบหน้ากว่าร้อยละ 99 แล้ว
กรณีพบ 4 โรงเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายได้รับเงิน สรุปเป็นโรงเรียนที่มีสิทธิรับเงินจากโครงการเสมาพัฒนาชีวิต ไม่ใช่จากกองทุนเสมา ตรวจสอบพบเป็นกลุ่มของนางรจนา ดำเนินการนำเงินจากกองทุนไปจ่ายทั้งที่มีเงินงบประมาณแผ่นดินให้กว่า 135 ล้านบาท จึงต้องสืบต่อว่างบนี้ไปใช้ในส่วนใด กรณีที่พบบัญชีวัดน้อยนพคุณได้รับเงิน เป็นโรงเรียนใช้ชื่อวัดรับเงินแทน
กระทรวงศึกษาธิการหารือธนาคารกรุงไทย สืบเจ้าของบัญชีที่ยังไม่ทราบตัวตนกว่า 68 บัญชี จาก 1000 บัญชี พร้อมส่งให้ ป.ป.ท.ขยายผลต่อ ขณะที่กรุงไทยเร่งรัดสืบข้อมูลภายใน หลังพบว่าปี 60 มีการโอนเงินทั้งที่เป็นบัญชีปลอม. – สำนักข่าวไทย