กรุงเทพฯ 29 ก.ย. – ปีหน้า กสอ.เตรียม 3 แผนพัฒนาเอสเอ็มอี ส่วนผลการดำเนินงานปี 2559 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจถึง 8,555 ล้านบาท
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ให้มีความเข้มแข็ง และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในปีหน้า(ปี 60) กสอ.วางแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการทั่วประเทศ ผ่าน 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานส่งเสริม SMEs ซึ่งประกอบด้วย การเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถของ SMEs รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายพัฒนา SMEs จำนวน 2,224 กิจการ/9,693 คน
แผนงานพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม กลุ่ม S-CURVE และ NEW S-CURVE โดยมีเป้าหมายพัฒนา SMEs จำนวน 430 กิจการ/1,755 คน
และแผนงานเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการยกระดับศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งวิสาหกิจชุมชน โดยมีเป้าหมายพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จำนวน 3,135 ราย และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ จำนวน 680 ผลิตภัณฑ์ โดยทั้ง 3 แผนงานนี้ มีงบประมาณรวม 832 ล้านบาท
ส่วนที่ดำเนินการไปแล้วในปีนี้ กสอ.ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท เปิด 3 ศูนย์ คือ ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม ศูนย์ช่วยเหลือ SMEs และดันศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (Business Service Center (BSC)) 14 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์ช่วยเหลือ SMEs (SME Rescue Center) เพื่อให้บริการช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจจากปัจจัยต่าง ๆ ให้สามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งทั้ง 2 ศูนย์มี SMEs มาขอรับบริการแล้วกว่า 3,000 ราย
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center) เพื่อช่วยพัฒนาทักษะด้านการออกแบบใน 4 มิติ ได้แก่ การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ การออกแบบและพัฒนาด้านวัสดุ การออกแบบการบริการ และการออกแบบเชิงวิศวกรรม โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปลายปี 2559 นี้
ส่วนผลการดำเนินงานส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ของ กสอ. ปีนี้ 59 ซึ่งดำเนินการ ผ่านกว่า 60 โครงการ ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนา SMEs โดยตลอดปี 2559 มีสถานประกอบการ SMEs เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ จำนวน 2,615 กิจการ และการพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรภาคอุตสาหกรรม 11,301 ราย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจได้ 7,080 ล้านบาท
กลุ่มการส่งเสริมและพัฒนา OTOP และวิสาหกิจชุมชน สามารถพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนได้ 4,398 ราย และเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ได้ 784 ผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ 1,475 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจโดยรวม 8,555 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้รับงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ SMEs โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำจำนวนทั้งสิ้น 7,000 กิจการ-สำนักข่าวไทย