รัฐสภา 29 ก.ย.- ประธาน กรธ.ย้ำ ส.ส.มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ให้ ส.ว.ร่วมเข้าชื่อกับ ส.ส.ขอยกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีพรรคการเมือง เชื่อ ส.ว.จะไม่ใช้ช่องนี้ เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกยาวถึง 8 ปี
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการปรับแก้ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงว่า การตีความของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกรอบของคำถามพ่วงแล้ว โดยกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรียังเป็นไปตามกระบวนเดิมที่ กรธ.วางไว้ คือ ให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ต้องปรับแก้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาคือ ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา เพื่อเสนอขอยกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จากเดิมที่เป็นอำนาจของ ส.ส.เพียงฝ่ายเดียว
นายมีชัย กล่าวว่า กรธ. ยังต้องปรับเงื่อนระยะเวลาการขอเปิดทางมีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ตลอดในช่วง 5 ปีแรก จากเดิมที่กำหนดให้ทำได้เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกเท่านั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญ ต้องการให้สอดคล้องกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและการปฎิรูปประเทศ ส่วนข้อสังเกตของฝ่ายต่าง ๆ ที่กังวลว่า ส.ว.จะใช้ช่องทางนี้ ยืดการคงอยู่ของนายกรัฐมนตรีคนนอกยาวถึง 8 ปีนั้น ส่วนตัวเชื่อว่า เป็นไปไม่ได้
นายมีชัย ปฎิเสธที่จะตอบคำถามว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ง่ายขึ้นหรือไม่ และไม่เชื่อว่า ส.ว. 250 คน ที่มาจาก คสช. จะเป็นตัวแปรทางการเมือง และทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะเห็นได้จากการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย ในปัจจุบัน ที่ไม่ได้ทำตามแนวทางของ คสช.เสมอไป
ประธาน กรธ. กล่าวว่า จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทันกรอบเวลา 15 วัน ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ และคาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น กรธ.จะยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและ กกต.โดยเร็ว เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาเตรียมตัว และยังไม่เห็นความจำเป็นในการเซตซีโร่ พรรคการเมือง หรือ องค์กรอิสระแต่อย่างใด
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุ กรธ.ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องกับผลประชามติและให้แก้ไข ว่า เป็นหน้าที่ของ กรธ.ที่ต้องปรับแก้ไขภายใน 15 วัน ซึ่งถือว่า ไม่กระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เพราะในรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดกรอบเวลานี้ไว้อยู่แล้ว การให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามหลักของคำถามพ่วงประชามติ และไม่ได้เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ง่ายขึ้น ในทางตรงกันข้าม การที่ ส.ว.ได้มีส่วนร่วมกับ ส.ส.เสนอเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีของพรรคการเมืองนั้น ยิ่งเป็นการเพิ่มกระบวนการกลั่นกรอง และอาจทำให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกยากขึ้น
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ปรับแก้โดยเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชี ได้ตลอดในช่วง 5 ปีแรกนั้น นายสุรชัย กล่าวว่า เรื่องนี้สนช.ได้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเอง เพราะ สนช.เห็นต่างจาก กรธ.ตั้งแต่ต้น และเหตุผลของศาลก็ชี้ชัด ว่า ต้องการให้การเมืองในตลอด 5 ปีนิ่ง และการปฏิรูปเกิดความต่อเนื่อง ขอทุกฝ่ายอย่าเพิ่งมองที่มาของ ส.ว.ว่ามาจากฝ่ายบริหารแล้วจะทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล แต่ขอให้มองเป้าหมายของการปฎิรูปประเทศจะดีกว่า.-สำนักข่าวไทย