โตเกียว 24 เม.ย.- หุ่นยนต์กำลังเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้นทุกขณะโดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุ บทบาทของหุ่นยนต์จะเป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ที่บ้านพักคนชราชินโตมิ ในย่านใจกลางกรุงโตเกียวซึ่งมองดูแล้วก็เหมือนกับที่อื่นๆ ทั่วไป แต่ที่นี่ไม่ธรรมดาเพราะในเวลาเที่ยงของทุกๆ วัน จะมีเจ้าเปปเปอร์ หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ซึ่งเป็นผลงานการสร้างของ ซอฟท์แบงก์คอร์ป มาทำหน้าที่เป็นครูสอนออกกำลังกายให้แก่ผู้สูงอายุ ความสามารถของเปปเปอร์ช่วยสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นการเต้นตามจังหวะเพลง การพูดคุย ยกแขนและชูกำปั้นขึ้น ส่วนที่ชั้นบนของบ้านพัก ผู้สูงอายุก็กำลังเล่นอยู่กับไอโบะ หุ่นยนต์สุนัขของค่ายโซนีและเจ้าพาโร หุ่นยนต์แมวน้ำอัจฉริยะซึ่งผลิตโดย ซีสเตม โค ซึ่งพวกมันสามารถเลียนแบบการเคลื่อนไหวของคนได้
คุณยายคาซูโกะ ยามาดะ อายุ 84 ปีบอกว่า เธอสามารถพูดคุยกับหุ่นยนต์เหล่านี้โดยไม่ต้องระมัดระวังคำพูดไม่เหมือนกับการพูดคุยกับคนด้วยกัน บ้านพักคนชราชินโตมิแห่งนี้มีผู้สูงวัยพักอาศัยมากกว่า 40 คน เริ่มนำเอาหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานเมื่อปี 2556 หลังได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียว ภายใต้โครงการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในการดูแลผู้สูงวัย
เวลานี้ญี่ปุ่นกำลังประสบกับวิกฤติแรงงานอย่างรุนแรง เพราะมีจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีถึงร้อยละ 27.2 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 40 ในอีก 47 ปีข้างหน้า สำหรับผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นนั้นหุ่นยนต์ถือได้ว่าเป็นสมาชิกในครอบครัว
คุณโยอิจิ ซูซูกิ วัย 63 ปี ตัดสินใจซื้อหุ่นยนต์ไอโบะ เมื่อพ่อของเขาล้มป่วยลง และเมื่อพ่อจากไปแล้ว ซูซูกิก็หวังว่า หุ่นยนต์ตัวนี้จะเป็นของที่ระลึกถึงพ่อตลอดไป ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความต้องการหุ่นยนต์จะมีมากขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุและความรุนแรงของปัญหาการแคลนแรงงาน.-สำนักข่าวไทย