กระทรวงแรงงาน.- 20 เม.ย.-กระทรวงแรงงาน เร่งถก 39 อาชีพใด ที่แรงงานต่างด้าวทำได้ นัดสุดท้าย คาดอาจผ่อนปรน กรรมกร-เลี้ยงสัตว์-ก่ออิฐ-ช่างไม้
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือ รับฟังความคิดเห็นจัดทำกฎหมายลำดับรอง พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 เพื่อกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สถาบันการศึกษา นายจ้าง ผู้ประกอบการ สภาวิชาชีพ และภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม
นายจรินทร์ กล่าวว่า การประชุมหารือครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 และอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เนื่องจากการหารือในครั้งที่ผ่านมายังมีบางประเด็นที่ยังเห็นว่าควรรับฟังและต้องหารือเพิ่มเติม เช่น การยกเลิก งานก่ออิฐ งานช่างไม้ งานก่อสร้าง กรรมกร งานผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้ทักษะฝีมือสูง ให้คนต่างด้าวทำได้ ส่วนงานขายของหน้าร้าน ควรกำหนดเงื่อนไขไม่ให้คนต่างด้าวทำงานดังกล่าวโดยไม่มีนายจ้างหรือเจ้าของกิจการ และให้กำหนดงานที่ส่งเสริมภูมิปัญญา เอกลักษณ์ไทย เช่น งานแกะสลักไม้ งานทำเครื่องเงิน งานทำเครื่องดนตรีไทย งานทำเครื่องถม เครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก งานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ แต่ควรมีข้อยกเว้นให้สามารถทำได้ ถ้าเป็นลูกจ้างหรือพนักงานในกิจการดังกล่าว และควรห้ามต่างด้าวทำเพิ่ม คือ งานนวด ร.ป.ภ. นายแบบนางแบบที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และต้องนิยามงานที่คนต่างด้าวทำให้มีขอบเขต มีความชัดเจน เพื่อให้การตีความเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นต้น
สำหรับการหารือครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ทุกคนมีอิสระเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสนอได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการพิจารณาต่อไป เพื่อเร่งจัดทำเป็นกฎหมายลำดับรอง เรื่องการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และประกาศใช้ให้ทันภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ เนื่องจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป โดยยืนยัน การออกกฎหมายลำดับรองกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำจะต้องมีความรอบครอบ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คำนึงถึงประโยชน์คนในชาติมากที่สุด ส่งผลกระทบน้อยที่สุด.-สำนักข่าวไทย