แจ้งวัฒนะ9 เม.ย.- กรมคุมประพฤติ เตรียมนำผู้ถูกคุมประพฤติ 1 หมื่นคนทั่วประเทศ ทำงานบริการสังคมช่วงสงกรานต์ 11-17 เม.ย.นี้
นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ จับมือภาคีเครือข่าย มูลนิธิเมาไม่ขับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล จัดแถลงข่าวรณรงค์ “คุมประพฤติเข้ม จับมือภาคี ร่วมใจลดอุบัติเหตุ”เพื่อสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นเตือนจิตสำนึกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ป้องกันลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561
นายประสาร กล่าวว่า ทางกรมฯ จะร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล นำผู้ที่ถูกควบคุมประพฤติจากการขับรถโดยประมาทและเมาแล้วขับที่มีอยู่ประมาณ 10,000 คนทั่วประเทศ มาทำงานบริการสังคมในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่าง 11-17 เมษายน 2561 ทั้งในเขตพื้นที่ กทม.และต่างจังหวัด โดยการเป็นหน้าที่เป็นอาสาจราจรตามท้องถนน อำนวยการจราจรตามด่านชุมชน จุดบริการประชาชนและจุดที่มีการจัดให้เล่นน้ำสงกรานต์ รวมถึงช่วยตำรวจปฎิบัติงานที่สถานีตำรวจและการตรวจค้น
ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดต้องจัดให้ผู้ถูกคุมประพฤติปฏิบัติงานในช่วงกลางคืน ทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่กู้ภัยตามความสมัครใจ เพื่อให้ผู้ถูกคุมประพฤติได้เห็นถึงสภาพปัญหาของการเมาและขับที่เกิดขึ้นจริง และรับรู้ถึงความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ที่ต้องสื่อสารกับคนเมา คุยไม่รู้เรื่อง เพื่อให้คนกลุ่มนี้ไม่กลับมาทำซ้ำ และแนะนำคนในครอบครัวเมาแล้วไม่ต้องขับ ใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวัง โดยจะทำควบคู่ไปการอบรบให้ความรู้ด้วย
อย่างไรก็ตามเนื่องจากกรมควบคุมความประพฤติ ถือเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลควบคุมประพฤติคนเมาแล้วขับ ขับรถโดยประมาท ดังนั้น บุคลากรในกรมที้งข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง ที่มีกว่า 4,000 คนทั่วประเทศ ต้องเป็นต้นแบบที่ดี โดยหากพบว่าใครเมาแล้วขับ หรือขับรถโดยประมาทจะถือว่ามีความผิดทางวินัย จะต้องถูกลงโทษตั้งแต่ ลดขั้นเงินเดือน จนถึงไล่ออกในที่สุด ซึ่งก็ได้รับการยกย่องจาก นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ว่าเป็นองค์กรภาครัฐแห่งแรกที่มีธรรมาภิบาลด้านจราจร เอาเรื่องการเมาแล้วขับ ขับรถโดยประมาทมาเป็นโทษทางวินัย
พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการกองแผนงานกิจการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า นอกจากการบังคับใช้กฎหมายปีนี้ ที่มีความจริงจังแล้ว ทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะตรวจเข้มเรื่องของการเมาแล้วขับด้วย เนื่องจากเป็นสาเหตหลักของอุบัติเหตุที่พบบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ทั้งผู้ขับขี้ตามจุดตรวจต่างๆ ยังรวมถึงผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุด้วย ซึ่งวิธีการจะมีทั้งการเป่า และการเจาะเลือด ก่อนเอาผลคดี ส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งจะมีโทษทั้งจำและปรับ และคุมประพฤติ .-สำนักข่าวไทย