ท่าพระจันทร์4เม.ย.-นักวิชาการ มธ.เสวนา “ตีแผ่เงินสงเคราะห์” ถกปัญหากรณีทุจริตเงินคนจน ชี้ระบบโครงสร้างเป็นปัญหา แนะรัฐกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 2 หัวข้อ ตีแผ่ “เงินสงเคราะห์” เรามาถูกทางหรือไม่ ในการช่วยเหลือคนด้อยโอกาส ระดมนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางป้องกันการทุจริตเงินสงเคราะห์
นายโกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาผู้ด้อยโอกาสหรือคนไร้ที่พึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ภาครัฐ จำเป็น ต้องให้ความสำคัญเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน ซึ่งมีมากกว่า 10 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคน ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือดูแลเป็นพิเศษ โดยแบ่งเป็น ผู้พิการ 2 ล้านคน คนไร้ที่อยู่อาศัย 1 แสนคน ผู้ยากจนไร้ที่ดินทำกินกว่า 5 ล้านคน และผู้สูงอายุอีกกว่า 12 ล้านคน จึงทำให้มีโครงการรัฐสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ จนกลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตเงินคนจน
นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่าปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น เนื่องจากกลไกในการให้ความช่วยเหลือมีความบกพร่อง ไม่มีความละเอียดรอบคอบ เป็นเพราะระบบโครงสร้างการบริหารที่ “รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง” ควร “กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” เพื่อทราบปัญหาของคนจนอย่างแท้จริง ดังนั้นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ ต้องปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารใหม่ ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลคนด้อยโอกาส เพราะเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับคนจนมากที่สุด และมีกลไกตรวจสอบความโปร่งใสที่ชัดเจน นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ให้ความช่วยเหลืออย่างยั่งยืน ไม่ใช่นโยบายที่ฉาบฉวย สิ้นเปลืองงบประมาณหลายพันล้านบาท
ทางด้าน นายอานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 76 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนสงเคราะห์เงินผู้ยากไร้ แต่ในความเป็นจริงประชาชนในท้องถิ่นกลับไม่ทราบถึง “สิทธิที่ตนพึงได้รับ” ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความบกพร่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจกับผู้ยากไร้ จึงทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ ซึ่งนอกจากการปฏิรูปโครงสร้างระบบแล้ว ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งเบาะแสการทุจริต ซึ่งผู้เข้าแจ้งเบาะแสต้องได้รับสิทธิของกฎหมายการคุ้มครองพยานได้ทันที เพื่อความปลอดภัยจากอำนาจมืด .-สำนักข่าวไทย