ป.ป.ท.22 มี.ค.- ป.ป.ท. ประชุมร่วม พส. หาแนวทางป้องกันทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้ทั่วประเทศในอนาคต เผยอาจใช้ พร้อมเพย์ แทนจ่ายเงินสด
พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และนางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการ(พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมประชุมหารือแนวทางป้องกันการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้ทั่วประเทศในปี งบประมาณ 2561 และในอนาคต โดยใช้เวลาประมาณนานกว่า 1.30 ชั่วโมง
นางนภา กล่าวว่า วันนี้เป็นการหารือร่วมกันถึงภาพรวมการทุจริตทั่วไป ทั้ง จุดอ่อน จุดเสี่ยง เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยปีงบประมาณ 60 โดยยังไม่ได้ลงในรายละเอียด แต่ในอนาคตการจ่ายเงินที่จะสามารถป้องกันการทุจริตได้ คือ แก้ไขวิธีการจ่ายเงิน แทนที่จะจ่ายเงิน แต่จะเปลี่ยนเป็นการโอนเข้าบัญชีด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เม้นท์) หรือพร้อมเพย์ แม้ว่าปัจจุบันระบบอีเพย์เม้นท์เข้าถึงพื้นที่มากพอสมควร แต่ชาวบ้านในพื้นที่อยู่ห่างไกลอาจจะยังมีข้อจำกัด
ส่วนกรณีเกิดภัยพิบัติเร่งด่วนที่ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นเงินสด ต้องมีบันทึกหลักฐานจ่ายเงินให้ชัดเจนและมีการบันทึกภาพ เพื่อยืนยันว่ามีการจ่ายเงินจริง นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นพิจารณาคุณสมบัติ เพื่อลดทอนอำนาจของผอ.ศูนย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่ควรได้รับการสงเคราะห์
นางนภา ยังยืนยันอีกว่า การทุจริตที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการย้าย ผอ.ศูนย์ฯต่างๆกว่าครึ่งประเทศแล้ว จะไม่กระทบต่อการทำงานของกรม โดย จะให้ผู้ช่วยหรือผู้ที่มีความเหมาะสมขึ้นมาปฏิบัติงานแทนชั่วคราว ส่วนกรณีล่าสุดที่พบการทุจริตเงินอุดหนุนพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงได้มีคำสั่งย้ายหัวหน้าเขตเข้ามาประจำกรม เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสอบวินัยร้ายแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าหัวหน้าเขตมีความผิดแล้ว หลังสรุปผลสอบหากพบว่ามีความผิดวินัยจริงก็ต้องลงโทษตามลำดับโทษ
สำหรับชาวบ้านผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์ แต่ยังไม่เคยได้รับเงินเลย จะทำอย่างไร นางนภา กล่าวว่า ในชั้นนี้ยังไม่มีแผนเยียวยาคนกลุ่มนี้โดยตรง จะต้องรอให้การตรวจสอบทุจริตเสร็จสิ้นก่อน จากนั้นกรมฯจะเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง และพิจารณาเป็นรายๆ ไป ว่ายังจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์หรือไม่
พ.ท.กรทิพย์ กล่าวว่า การหารือในวันนี้ยังยืนยันคำเดิมว่า ทั้งสองหน่วยงานไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งกัน ทั้งสองต่างร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาต่อเนื่อง ป.ป.ท.ดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม ส่วน พม.จะตรวจสอบวินัยอาญาของเจ้าหน้าที่ ทั้ในอนาคตยังคงทำงานร่วมกันวางแนวทางป้องกันการทุจริต ทั้งในเชิงระบบ และตัวบุคคล พร้อมกับไม่มีแนวคิดจะยกเลิกโครงการเพราะระบบแนวทางวางไว้มาดีแล้ว แค่มีปัญหาที่ตัวบุคคล และช่องโหว่ที่ต้องรีบปกปิด แก้ไข.-สำนักข่าวไทย