กรุงเทพฯ 22 มี.ค. – สศก.คาดปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-22 บาท กระทบภาคเกษตรน้อย แต่อาจมีผลต่อบางสาขาช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต แนะรวมกลุ่มน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-22 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการบริหารแต่ละสาขาในระบบเศรษฐกิจ ในส่วนภาคการเกษตรมีอัตราส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิตร้อยละ 17.4 โดยเฉลี่ยใช้แรงงานเป็นหลักในกิจกรรมการผลิต ขณะที่ภาคบริการมีอัตราส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิตร้อยละ 20.2 โดยภาคบริการเฉลี่ยใช้แรงงานคนมาก เพราะต้องสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าในการให้บริการ และภาคอุตสาหกรรมมีอัตราส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิตร้อยละ 9.0 โดยต้นทุนแรงงานไม่มาก เนื่องจากอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลิตสินค้า
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอาจไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรมากนัก แต่อาจจะกระทบต่อค่าจ้างแรงงานในช่วงที่เป็นฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยรวมสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ระดับรายได้ของภาคครัวเรือนเกษตรที่มีอาชีพแรงงานก็จะเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นไปด้วย ส่งผลให้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของ สศก.ถึงผลกระทบจากการเพิ่มค่าจ้างแรงงานต่อระบบเศรษฐกิจการเกษตรไทย โดยพิจารณาจากสัดส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานถึงผลกระทบต่อภาคเกษตรของแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ได้รับผลกระทบมากสุด โดยมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ยร้อยละ 17.8 รองลงมาสาขาบริการทางการเกษตรร้อยละ 12.1 สาขาประมงร้อยละ 8.4 และสาขาปศุสัตว์ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ยร้อยละ 8
นางอัญชนา กล่าวว่า แม้การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะมีผลกระทบต่อภาคเกษตรค่อนข้างน้อย แต่สิ่งสำคัญ คือ ภาคการเกษตรยังคงต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งการพัฒนาศักยภาพแรงงานเกษตรเพื่อให้สามารถลดต้นทุนในการผลิต รวมทั้งเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานภาคการเกษตรเป็นแบบการรวมกลุ่มเกษตรกรหรือคนในชุมชน และการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายวิณะโรจน์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2561 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ทุกสาขาการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจการเกษตรขยายตัวได้ดี คือ ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำสำคัญมีเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช ประกอบกับสภาพอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเอื้ออำนวยต่อการผลิต ทำให้พืชเศรษฐกิจหลักหลายชนิดมีทิศทางเพิ่มขึ้น แม้ว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม 2560 หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่สำคัญจะประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนที่ออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสนี้ แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้วไม่กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตรมากนัก
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3 – 4 โดยทุกสาขาการผลิตขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2560 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ปริมาณน้ำและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่าง ๆ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยมีทิศทางที่ดี ส่งผลต่อเนื่องมายังการผลิตและราคาสินค้าเกษตรในประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร อาทิ ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และโรคระบาดต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรระยะต่อไป.-สำนักข่าวไทย