ทำเนียบฯ 21 มี.ค.-“วิษณุ” ชี้ สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้เอง ระบุนายกฯ ไม่ใช่ไปรษณีย์ ที่ต้องยื่นตีความ กม.ลูกแทนใคร ฝากนายกฯ สงสัยไม่ได้ แนะส่งความเห็นยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มายังรัฐบาล ป้องกันถูกมองทฤษฎีสมคบคิด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงไปแล้ว ซึ่งตามกฎหมาย ผู้ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ คือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับ นายกรัฐมนตรี ซึ่ง สนช.ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วในส่วนของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น เท่าที่ทราบ สนช.มีมติไม่ยื่น และยังไม่ทราบว่าส่งมายังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ เพราะทางสำนักเลขาฯ ยังไม่ได้รายงานมายังตน
ส่วนความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวส่งมา อาจจะต้องมีการหารือและสอบถามไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เกี่ยวกับข้อห่วงใย รวมถึงถาม สนช.ว่าเหตุใดถึงไม่ยื่นเอง และต้องมีการพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อพิจารณา
“ทั้งนี้เห็นว่านายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ไปรษณีย์ ที่เมื่อรับร่างกฎหมายมาแล้ว จะต้องยื่นเรื่องเอง เพราะประเด็นดังกล่าว ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้สงสัย หากนายกรัฐมนตรียื่นเท่ากับว่านายกรัฐมนตรีสงสัย หาก สนช.ยื่น เท่ากับ สนช.สงสัย ดังนั้นจะเอาความสงสัยของคนอื่นมาฝากให้นายกรัฐมนตรีสงสัยด้วยคงไม่ได้ ซึ่งประเด็นการยื่นหรือไม่ยื่นตีความกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เคยชี้แจงแล้วว่า เหตุผลที่ไม่ยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในขณะนี้ เพราะไม่มีประเด็นอะไรที่น่าเป็นห่วง และหากหลังประกาศใช้ มีคนไปยื่น และศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามาตราใดขัดรัฐธรรมนูญ ก็เพียงแค่ตัดมาตรานั้นออกไปเท่านั้น เช่น มาตราที่ว่าด้วยการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง หากขัดรัฐธรรมนูญ ก็ตัดออก บุคคลนั้นก็กลับมาเป็นข้าราชการได้ตามปกติ หรือกรณีกำหนดให้เจ้าหน้าที่ช่วยคนพิการลงคะแนนนั้น หากขัดในส่วนนี้ ก็คงไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า หากหลายฝ่ายเห็นด้วยว่าควรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือตั้ง ส.ส.ในขณะนี้ ก็ให้ส่งความเห็นนั้นมาให้รัฐบาล เช่นเดียวกับหากไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นแผนประวิงเวลา ก็สามารถส่งความเห็นมายังรัฐบาลได้ เพราะขณะนี้ เมื่อไม่ยื่น ก็มาเร่งให้ยื่น เพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่หากยื่น ก็อาจถูกต้องมองว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด ดังนั้นจึงต้องมองอย่างรอบด้านเพื่อพิจารณา.-สำนักข่าวไทย