ญี่ปุ่น 18 กนอ. เตรียมดึงโมเดล ญี่ปุ่น ปั้นฟังก์ชั่น ศูนย์ SME – ITC ในนิคมฯ 10 แห่ง หนุนผู้ประกอบการตามนโยบายเสริมแกร่ง SMEs
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะศึกษารูปแบบการดำเนินงานของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งมหานครโตเกียว (Tokyo Metropolitan Industrial Technology Research Institute : TIRI) หน่วยงานภายใต้สำนักงานบริหารมหานครโตเกียว ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในกรุงโตเกียวและปริมณฑลที่มีอยู่กว่า 900,000 ราย
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ กนอ.จะนำแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการของ TIRI มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาศูนย์ SMEs ITC ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมจำนวน 10 แห่ง ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ในประเทศไทยได้รับสิทธิประโยชน์และการบริการรูปแบบใหม่ๆ อย่างเต็มพิกัด พร้อมเพิ่มศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของ TIRI รวม 7 ด้านที่น่าสนใจ และสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบในการตั้งศูนย์ SME – ITC ในประเทศไทยมี ได้แก่ Technical Assistance การรับจ้างทดสอบผลิตภัณฑ์ การให้คำปรึกษา Supporting Product Development การให้บริการเช่าห้องทดลอง และเครื่องมือเครื่องจักร Research and Development การวิจัยร่วมกัน การพัฒนาบุคลากร ด้วยการให้การฝึกอบรม การเผยแพร่ข้อมูลอุตสาหกรรม เช่น การจัดนิทรรศการ การพิมพ์บทความ Supporting Technology Management การจัดการสิทธิบัตรจากการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ และ Collaboration in Industrial Circle การจับคู่ธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงในคลัสเตอร์เดียวกัน
นอกจากนี้ กนอ. ยังเตรียมนำต้นแบบการให้การสนับสนุน SME ซึ่งแบ่งเป็น 6 ระดับจาก TIRI มาปรับใช้ คือ การให้บริการรวมทั่วไปสำหรับทุกสถานะของกิจการโดยมีศูนย์ให้คำปรึกษาแบบเบ็ดเสร็จ และการสนับสนุนด้านการจ้างงานและพัฒนาบุคลากร รวมถึงการสนับสนุนการหาสถานที่และอุปกรณ์ในการประกอบกิจการ, การให้บริการสำหรับสถานะสร้างกิจการ โดยสนับสนุนการเตรียมพร้อมความรู้เบื้องต้นและการจัดทำแผนธุรกิจพร้อมการประเมินความเป็นไปได้ของกิจการ รวมทั้ง ให้บริการเช่าสถานที่เริ่มต้นสร้างกิจการ
การให้บริการสำหรับสถานะดำเนินกิจการ โดยให้คำปรึกษาแนะนำในด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมการออกแบบระหว่าง SMEs กับมหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมทั้ง มีเงินกองทุนสนับสนุนในการเริ่มวิจัย การวิจัยสินค้าหรือเทคนิคใหม่ การขอใบรับรองมาตรฐานในต่างประเทศ เช่น ISO และการเปิดตลาดของสินค้า หรือเทคโนโลยีที่วิจัยสำเร็จ รวมถึง มีศูนย์องค์ความรู้ในการนำผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีต้นแบบไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์การเปิดตลาดต่างประเทศ
การให้บริการสำหรับสถานะเติบโตและมั่นคงโดยมีศูนย์ข้อมูลกลางรวบรวมความต้องการซื้อจากผู้ผลิตขนาดใหญ่ และจับคู่รับช่วงการผลิตให้กับ SMEs รวมทั้งสนับสนุนการบุกเบิกตลาดใหม่ โดยจัดตั้งจุดบริการให้คำปรึกษาโดยผู้มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ มีความรู้และเครือข่ายมาทำหน้าที่ Business Navigator เพื่อช่วยเหลือและเป็นพี่เลี้ยงให้กับ SMEs ในต่างประเทศ
การให้บริการสำหรับสถานะสืบทอดหรือฟื้นฟูกิจการโดยให้ความช่วยเหลือการฟื้นฟูกิจการ SMEs ที่ประสบปัญหาหรือมีหนี้สินหรืออยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย โดยจัดผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ปัญหาด้านบริหาร จัดการ การเงินและให้คำแนะนำวิธีที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูหรือสืบทอดกิจการ และ 6. สถานะประกอบธุรกิจในระดับสากล โดยให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบการลงทุนการประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ และจัดหาผู้มีประสบการณ์ในวงการธุรกิจทำหน้าที่ Business Navigator คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่ SMEs ที่มีศักยภาพและต้องการขยายตลาดต่างประเทศ
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการกนอ. กล่าวว่า อยากให้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และ EEC พร้อมเชิญให้ผู้บริหารและทีมงาน TIRI ลงพื้นที่ประเทศไทย เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมและช่วยยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล-สำนักข่าวไทย