นนทบุรี 12 มี.ค.- กรมการค้าต่างประเทศเตรียมระบายข้าวในสต็อกรัฐล็อตสุดท้าย 2 ล้านตัน เตรียมเสนอ นบข.พิจารณา 29 มีนาคมนี้ ขณะที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวเสนอให้เข้มงวดกับการระบายข้าวสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าว
นายอดุลย์ โชติกนิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ปริมาณข้าวที่เหลือในสตอกรัฐอีกประมาณ 2 ล้านตันใน 3 กลุ่ม คือ ข้าวเพื่อการบริโภค 40,000 ตันข้าวกลุ่ม 2 ที่คนบริโภคไม่ได้แต่สัตว์สามารถบริโภคได้ ปริมาณ 1.5 ล้านตัน และข้าวกลุ่ม 3 เป็นข้าวที่คนและสัตว์ไม่สามารถบริโภคได้ อีกประมาณ 5 แสนตัน โดยกรมการค้าต่างประเทศมีแผนที่จะนำออกมาระบายสู่ภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เพื่อลดภาระการจัดเก็บรักษาเดือนละ 120-130 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข.ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาตลาด เนื่องจากข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวที่คนไม่สามารถบริโภคได้ และเป็นการระบายสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยปริมาณที่จะนำมาระบาย จะมีการระบายเป็นกลุ่มตามความเหมาะสม และหากมีข้าวที่ไม่สามารถระบายหมดได้ในล็อตเดียว ก็จะทยอยนำออกมาประมูลในล็อตต่อไป ซึ่งตามกรอบที่ นบข.กำหนด จะต้องระบายให้หมดภายในปีนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้ราคาปรับตัวดีขึ้น และนับตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่พฤกษภาคม 2557 มีการระบายข้าวในสต็อกไปแล้ว 14.84 ล้านตัน จากปริมาณข้าวทั้งหมด 17.76 ล้านตันเป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่องทำให้ระดับราคาข้าวเปลือกยังคงมีเสถียรภาพ โดยทิศทางตลาดส่งออกข้าวไทยในปีนี้ยังคงมีแนวโน้มที่ดี ล่าสุดรัฐบาลจีนตกลงนำเข้าข้าวงวดที่ 5 ปริมาณ 1 แสนตัน ภายใต้สัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) แล้ว และยังมีคำสั่งซื้อข้าวจากการเปิดประมูลนำเข้าข้าวของรัฐบาลต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่ NFA จะเปิดประมูลนำเข้าข้าวแบบ G to P ปริมาณ 250,000 ตัน ภายในเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ ตลาดข้าวไทยในภูมิภาคอื่นๆ ยังมีการสั่งซื้อข้าวไทยมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อสถานการณ์ตลาดข้าวของไทยและราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรจะได้รับ
นอกจากนี้ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดการค้าข้าวโลกมีการแข่งขันสูง รัฐบาลไทยจึงได้มีแผนในการพัฒนาการค้าข้าวและผลิตข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยกำหนดทิศทางการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลังผ่านการเร่งขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก เดินหน้าผลักดันการส่งออกข้าวไทย โดยมีแผนจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและภาคเอกชนเดินทางไปเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคต่างๆ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สเปน จีน สหรัฐฯ เม็กซิโก สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ ตามลำดับ รวมทั้งการรับรองคณะผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ เช่น ฮ่องกง อิรัก และอิหร่าน เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานข้าวไทยซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยที่มีความหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ข้าวและนวัตกรรมข้าวทั้งในและต่างประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคข้าวไทยเพิ่มมากขึ้นควบคู่กับการแสวงหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย
ทั้งนี้ การดำเนินการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทยทั้งในตลาดเดิมและการเปิดตลาดใหม่ในหลายรูปแบบข้างต้น รวมทั้งการที่ได้ระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่กดทับราคาตลาดจนเหลือปริมาณไม่มากนัก จะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาข้าวเป็นผลดีต่อเกษตรกร และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก ประกอบกับยังคงมีปัจจัยบวกอื่นๆ อาทิ ผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ เช่น อินเดียและบังกลาเทศมีแนวโน้มลดลง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี ๒๕๖๑ ที่ปริมาณ ๙.๕ ล้านตัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – มี.ค. 61 ไทยส่งออกข้าวแล้วประมาณ 2 ล้านตัน มูลค่า 999 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 4.17 และ 22.13 ตามลำดับ – สำนักข่าวไทย