BIG STORY : ข้อมูลย้อนหลังการปนเปื้อนสินค้าอาหารนำเข้าจากไทยไปญี่ปุ่น VS ญี่ปุ่นมาไทย

สำนักข่าวไทย 6 มี.ค.-ย้อนกลับไปดูข้อมูลการกักกันสินค้าอาหารจากไทยที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น พบว่าสินค้าสัตว์น้ำจากไทยพบการปนเปื้อนและปฏิเสธการนำเข้ามูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าสินค้าอาหารจากญี่ปุ่นเข้าไทย ภายหลังเกิดปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ เมื่อปี 2554 ไม่พบการปนเปื้อนใดๆ เลย


ข้อมูลของสถาบันอาหาร องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO รายงานสรุปการกักกันและปฏิเสธการนําเข้าสินค้าอาหารไทยสู่ญี่ปุ่น ล่าสุดที่ทำไว้เมื่อปี 2555 พบว่า ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารไปยังญี่ปุ่น เป็นอันดับที่ 1 รวม 1.43 ล้านตัน มูลค่ารวม 94,531 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้า 5 อันดับแรก คือ กลุ่มสัตว์น้ำราว 176 ล้านตัน มูลค่าส่งออก 40,657 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.01 รองลงมาคือ กลุ่มเนื้อสัตว์ที่ 174 ล้านตัน มูลค่า 28,400 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.08 อันดับที่ 3 คือ กลุ่มน้ำตาลและน้ำผึ้ง ร้อยละ 12.70 กลุ่มพืชผัก ร้อยละ 5.23 และกลุ่มผลไม้ ร้อยละ 3.24


ญี่ปุ่นตรวจพบปัญหาด้านสุขอนามัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย Food Sanitation Law ทำให้ถูกกักกันและปฏิเสธการนําเข้า ณ ด่านนําเข้าของประเทศญี่ปุ่น ทั้งสิ้น 88 ครั้ง โดยกลุ่มสัตวน้ำตรวจพบปัญหาสุขอนามัย 21 ครั้ง กลุ่มพืชผักจำนวน 26 ครั้ง กลุ่มข้าวและธัญพืช 29 ครั้ง กลุ่มผลไม้ 6 ครั้ง ส่วนกลุ่มเนื้อสัตว์และน้ำตาล-น้ำผึ้ง ไม่พบปัญหาสุขอนามัยเลย


ทั้งนี้ ปัญหาสุขอนามัยที่พบในอาหารที่นำเข้าจากไทย มีสาเหตุหลักจากการตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนมากที่สุดถึง 65.91% รองลงมาตรวจพบยาฆ่าแมลงตกค้าง และเป็นที่น่าเศร้าว่าจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในสินค้าอาหารไทย ได้แก่ เชื้อรา และแบคทีเรียโคลิฟอร์ม โดยสินค้าประเภทสัตว์น้ำที่ถูกปฏิเสธนำเข้าทั้ง  21 ครั้ง เป็นการตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์มปนเปื้อนมากที่สุดรวม 9 ครั้ง

โดยตรวจพบในอาหารทะเลแช่แข็งประเภทกุ้งต้มสุกแช่แข็ง หมึกตัดแต่งแช่แข็ง ปลาหมึกชุบแป้งแช่แข็ง ปูอัดแช่แข็ง รองลงมาเป็นการตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต (Live Bacteria Count) ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจํานวน 8 ครั้ง นอกจากนั้นยังมีการตรวจพบเชื้ออีโคไลในระดับที่เกินค่ามาตรฐานของประเทศญี่ปุ่นเป็นจํานวนรวม 4 ครั้ง

ส่วนกฎหมายไทย นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง ระบุว่าการนำเข้าปลาทุกชนิด เจ้าหน้าที่ด่านตรวจ จะมีการตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเก็บตัวอย่างไปตรวจ หากผ่านเกณฑ์มาตรฐานถึงนำเข้าไทยได้ โดยประกาศเรื่องมาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีดังกล่าว กำหนดค่ามาตรฐานสารกัมมันตรังสีปนเปื้อน 3 ชนิด ต้องไม่เกินกำหนด  คือ ไอโอดีน-131 ซีเซียม-134 และซีเซียม-137

รองอธิบดีกรมประมงยืนยันว่า กรณีการนำเข้าปลาตาเดียวและปลาลิ้นหมา ยืนยันว่ามีการนำเข้ามาตลอด ก่อนเกิดปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 โดยการนำเข้ามานี้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานอย่างละเอียดทุกครั้ง เป็นไปตามประกาศกระทรวง ไม่พบการปนเปื้อนแต่อย่างใด 

สำนักข่าวไทยพบว่า สารกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 นั้น มี 3 ตัวเช่นเดียวกับที่ประกาศของกระทรวง ซึ่ง อย.เน้นการตรวจสินค้าอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นไปที่สารซีเซียม-134 และซีเซียม-137 เพราะกว่าจะเสื่อมสลายตามธรรมชาติต้องใช้เวลาถึง 30 ปี หากเข้าสู่ร่างกายจะกระจายสะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เกิดมะเร็งนั้นๆ ได้ ส่วนไอโอดีน-131 แม้จะสลายได้ใน 8 วัน แต่จะสะสมที่ต่อมไทรอยด์ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่เชื่อการแถลงข่าวของ อย.และกรมประมง เนื่องจากกรมประมงยอมรับเองว่า ไม่มีการตรวจซ้ำที่ด่าน เป็นการเชื่อข้อมูลใบรับรองจากผู้นำเข้าเท่านั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้มีการตรวจซ้ำ เพื่อยืนยันความปลอดภัยที่จะมีต่อผู้บริโภคในลอตที่เพิ่งนำเข้า และขอให้เปิดเผยชื่อร้านอาหารทั้ง 12 ร้าน ชะลอการจำหน่ายปลาจนกว่าจะมีการตรวจซ้ำ จากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากทางการไทย

ทั้งนี้ หากไม่มีการตรวจสอบ เครือข่ายผู้บริโภคจะฟ้องเพิกถอนประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณตรวจสอบการนำเข้าสินค้า ฉบับวันที่ 15 พ.ค.2559 เพราะก่อนหน้านี้ อย.ตรวจสอบอาหารนำเข้ามาโดยตลอด แต่เมื่อมีการถ่ายโอน กรมประมงกลับอ้างว่าไม่มีหน้าที่กัก หรือตรวจสอบซ้ำ ให้ อย.ไปสุ่มตรวจหลังเข้าสู่ตลาดแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ผ่านมาเกือบ 2 ปี อย.ไม่เคยมีการประเมินการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งสะท้อนอย่างชัดเจนจากการนำเข้าปลาจากฟูกุชิมะครั้งนี้.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ศึกชิงนายก อบจ.สุรินทร์ “ธัญพร มุ่งเจริญพร” เข้าป้าย

ศึกชิงนายก อบจ.สุรินทร์ ลุ้นกันจนนาทีสุดท้าย “ธัญพร มุ่งเจริญพร” พลิกชนะ “พรชัย มุ่งเจริญพร” แชมป์เก่าแบบขาดลอย คว้าเก้าอี้มาครอง นั่งนายก อบจ.หญิงคนแรกของจังหวัด

เลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ครึ่งวันเช้าคึกคัก

ภาพรวมการใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ครึ่งวันเช้าค่อนข้างคึกคัก มีประชาชนทยอยใช้สิทธิต่อเนื่อง ยังไม่มีรายงานการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ปชช.ตื่นตัวใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ท่ามกลางสายฝน

ชาวนครศรีธรรมราช ตื่นตัวออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. ท่ามกลางสายฝน กกต.เผยภาพรวมครึ่งวันเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่มีรายงานการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ช้างป่ายกโขลงประชิดหมู่บ้าน ไล่ระทึกทั้งคืน

ไล่ระทึกกันทั้งคืน ช้างป่ายกโขลงบุกประชิดหมู่บ้านตลิ่งชัน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ออกหากินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน