กรุงเทพฯ 6 มี.ค. สปสช.เปิดเวทีถกความเห็นต่างกรณีทำหมันแล้วท้อง จ่ายเงินช่วยตาม ม.41 ไม่พิสูจน์ถูกผิดเพื่อมนุษยธรรม ได้ข้อสรุป 4 ประเด็น เตรียมเสนอบอร์ด สปสช. ตั้ง คกก.ร่วมหาข้อยุติ
ในเวทีถกแถลงทางนโยบาย (Policy Dialogue) เรื่อง “การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41ในกรณีการเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์ภายหลังการคุมกำเนิด” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ/แพทยสภา/ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเท็จจริงการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 กรณีที่มีความเห็นต่อการตั้งครรภ์ภายหลังคุมกำเนิดว่าให้ถือเป็นไปตามพยาธิสภาพหรือกรณีเหตุสุดวิสัย
รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญผู้แทนราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ กล่าวว่า การคุมกำเนิดมีทั้งการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว แบบถาวร และกึ่งถาวร มีหลักการคือทำให้ท่อรังไข่อุดตัน แม้ว่าหลังการผ่าตัดทำหมันแล้วโอกาสการตั้งครรภ์ยังเกิดขึ้นได้ แม้ปัจจุบันจะมีโอกาสน้อยมาก โดยข้อมูลช่วง 5 ปีย้อนหลัง สหรัฐฯ มีอัตราการตั้งครรภ์หลังการทำหมัน 13รายต่อพันราย อังกฤษมีอัตราตั้งครรภ์หลังการทำหมัน 2-5 รายต่อพันราย ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอัตราการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นได้หลังจากการทำหมัน 5 รายต่อพันราย //ส่วนประเทศไทยข้อมูลการตั้งครรภ์หลังการทำหมันอยู่ที่ 0.2-2 ต่อพันราย สาเหตุเกิดขึ้นได้ทั้งจากตัวผู้ให้บริการที่ไปผูกตัดท่อที่ไม่ใช่ท่อรังไข่ และเกิดขึ้นเองโดยท่อรังไข่ต่อกันเอง ซึ่งเกิดได้ทั้งภาวะตั้งครรภ์ในมดลูกและนอกมดลูก
นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้แทนแพทยสภา กล่าวว่า การทำหมันถาวรข้อเท็จจริงไม่มีการทำหมันถาวร แต่เป็นคำใช้ติดปาก โดยแพทยสภาได้รับข้อร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากแพทย์ เนื่องจากได้ทำหัตถการทำหมันอย่างถูกต้องแล้ว แต่ทำไมจึงถูกร้องเรียนภายหลังได้ จึงให้กลุ่มงานกฎหมายแพทยสภาไปหาข้อเท็จจริง เพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้ โดยประเด็นปัญหาเริ่มตั้งแต่นิยามมาตรา 3 บริการสาธารณสุข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งในปี 2555 ได้มีการเปลี่ยนแปลงนิยามการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมถึงบริการสาธารณสุขจนเกิดการตีความครอบจักรวาล// ขณะที่ ม.41 ระบุว่าการช่วยเหลือเบื้องต้นให้เป็นกรณีความเสียหายจากการรักษาพยาบาลโดยหน่วยบริการเท่านั้น ทั้งใน ม.42 ยังกำหนดให้ไล่เบี้ยสอบสวนผู้กระทำผิดอีก แม้ว่าที่ผ่านมาบอร์ด สปสช.จะไม่เคยให้มีการไล่เบี้ยก็ตาม
ขณะที่ในการพิจารณาของอนุกรรมการระดับจังหวัด ยังมีการตัดสินที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีกรณีการอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือเหตุตั้งครรภ์หลังการทำหมันโดยให้เหตุผลว่า แม้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ให้มีการจ่ายเพื่อเป็นการช่วยเหลือทางศีลธรรมและบรรเทาความดือดร้อนของครอบครัว โดยที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ส่วนกลางกลับไม่สามารถยกเลิกคำตัดสินที่ไม่ถูกต้องได้ หากให้มีการช่วยเหลือกรณีตั้งครรภ์หลังจากทำหมันแล้ว ย้ำหากให้เยียวยาได้ต้องแก้ กม.รองรับถูกต้อง เพราะไมใช่เหตุสุดวิสัย ทั้งการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยไม่มีกฎหมายรองรับเป็นเรื่องอันตรายมาก ซึ่งแพทยสภาเสนอมาวันนี้เป็นการติดเพื่อก่อ เมื่อผิดแล้วเราจะแก้ไขให้ถูกต้องหรือไม่
นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. กล่าวว่า ทั้งมาตรา 41 และ 42 มีมาตั้งแต่เริ่มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยึดหลัก 3 ข้อ คือ การช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่พิสูจน์ถูกผิด ที่เป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และลดความขัดแย้งในระบบสุขภาพ อย่างไรก็ตามเมื่อความเห็นต่างในการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีทำหมันแล้วตั้งท้อง ควรร่วมกันหาทางออก ซึ่งสามารถสรุปความเห็นต่าง 4 ประเด็น คือ 1.การทำหมันแล้วตั้งท้องถือเป็นพยาธิสภาพหรือเหตุสุดวิสัย 2.การออกระเบียบการรักษาพยาบาลตามมาตรา 41 ครอบคลุมถึงบริการสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ 3.กรณีที่ใช้นิยามคำว่าสุดวิสัยกับระบบบริการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และ 4. การหาผู้รับผิดโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดจะปฏิบัติอย่างไร
ทั้งนี้ในที่ประชุมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้นำเสนอข้อมูลการยื่นคำร้องและการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ โดยตั้งแต่ปี 2549-2560 มีการยื่นคำร้องกรณีการทำหมันจำนวน 792 ราย จากคำร้องทั้งหมด 10,445 ราย แยกเป็นการผ่าตัดทำหมันจำนวน738 ราย และเป็นการทำหมันชั่วคราว 54 ราย รวมเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตลอดในช่วง 12 ปี จำนวน 42,879,000 บาท .-สำนักข่าวไทย