เพชรบุรี 5 มี.ค. – ธ.ก.ส.บูรณาการนโยบายรัฐบาล จัดเมนูฟื้นฟูอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย ควบคู่การจัดตั้งทีมหมอประชารัฐสุขใจช่วยเหลือใกล้ชิด เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นวงจรหนี้และความยากจนอย่างถาวร
นายวิรัช วาณิชธนากุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ประสานความร่วมมือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองทุนหมู่บ้าน เปิดจุดบริการแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตถึงในชุมชน เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยมีผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่าน ธ.ก.ส. 3.72 ล้านราย เป็นเกษตรกร 3.46 ล้านราย และผู้ประกอบอาชีพอื่น 260,000 ราย ซึ่งในจังหวัดเพชรบุรีมีผู้แจ้งความประสงค์ 7,583 ราย เป็นเกษตรกร 6,786 ราย ผู้ประกอบอาชีพอื่น 797 ราย ซึ่งแนวทางการดำเนินโครงการในจังหวัดเพชรบุรี ธ.ก.ส.ได้จัดทำตัวอย่างเมนูอาชีพที่เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรที่เป็นหัวขบวนในการรับซื้อผลผลิตจากผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน เช่น สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด และสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจส่งเสริมให้สมาชิกปลูกกล้วยหอมทอง เพื่อส่งออกไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรกต อินเตอร์เนชั่นนอล ผู้ออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์จากงานหัตถกรรมพื้นบ้านสู่ศิลปะที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม ที่ส่งเสริมให้สมาชิกผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐาน GAP เพื่อนำมาแปรรูปจำหน่ายเป็นข้าวหอมตรา “รอยยิ้มชาวนา” และการผลิตสินค้าจากวัสดุเหลือใช้เป็นเครื่องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ “ตาลต้านตึง” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลช่องสะแก เป็นต้น โดยได้นำมาจัดแสดงเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้มีรายได้น้อยให้ลุกขึ้นมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองในวันนี้
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้กำหนดแนวทางการเข้าไปช่วยเหลือแบบครบวงจรผ่าน 3 มาตรการ 9 โครงการ ประกอบด้วย มาตรการลดภาระหนี้สิน ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อยในระบบ ธ.ก.ส. มีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ 535,137 ราย 2.โครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรร้อยละ 30 จำนวน 2.3 ล้านราย 3.โครงการสินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ระยะที่ 3 มีเกษตรกรเข้าร่วม 350,000 ราย วงเงิน 19,000 ล้านบาท 4.โครงการสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านฯ และสินเชื่อสถาบันการเงินชุมชน เพื่อแก้ไขและป้องกันหนี้นอกระบบ 10,000 ราย วงเงิน 1,000 ล้านบาท 5.โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 จำนวน 200,000 ราย วงเงิน 10,000 ล้านบาท มาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) เป้าหมาย 384,000 ราย วงเงิน 45,000 ล้านบาท (3 ปี) 2.โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อยเป้าหมาย 400,000 ราย วงเงิน 20,000 ล้านบาท มาตรการพัฒนาตนเอง ได้แก่ 1. โครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกรลูกค้าที่มีรายได้น้อย 2.โครงการส่งเสริมการออม ผ่านเงินฝากกองทุนทวีสุข
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้แต่งตั้งผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer: AO) คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ติดตามการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตเป็นรายบุคคล โดยในส่วนของ ธ.ก.ส. สาขาจะร่วมกับทีมหมอประชารัฐสุขใจ (ปรจ.) เข้าไปพบปะผู้มีรายได้น้อยทุกราย มีการจัดทีมลงพื้นที่สัมภาษณ์เป็นรายบุคคลเพื่อวิเคราะห์แนวทางการพัฒนา ประสานงานและบูรณาการกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม จัดตั้งห้อง War Room และ Call Center เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและรายงานคณะทำงานเป็นระยะอีกด้วย. – สำนักข่าวไทย