สภาการศึกษา 27 ก.พ.- กอปศ. เดินหน้าศึกษาแผนจัดการกองทุน ย้ำงบ2.5 หมื่นล้านบาทจำเป็นเพื่อความเสถียรภาพ คาดปีนี้ได้งบดังกล่าว แต่ต่อไปต้องนำเสนอแผนรายปี ชี้อาจไม่ได้ หากรัฐไม่ให้ความสำคัญ
ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา พ.ศ….ว่าขณะนี้สภานิติบัญญัติเเห่งชาติ(สนช.)ได้รับร่างพ.ร.บ.กองทุนฯ เข้าพิจารณาในวาระที่1เเล้ว ขั้นตอนต่อไปคณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาในวาระที่2และ3ต่อไป
ส่วนคณะกรรมาธิการฯจะพิจารณาในเรื่องที่ กอปศ.กำหนดในร่าง พ.ร.บ.ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเป็นรายปี ในวาระแรกเริ่มเป็นเวลา 5 ปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของเงินงบประมาณที่เกี่ยวกับการศึกษาหรือไม่นั้น ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะออกมาในรูปแบบใด โดยก่อนหน้านี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเเล้ว แต่ในขณะเดียวกันสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง มีข้อสังเกตและขอให้ปรับแก้งบฯ ร้อยละ5 โดยให้เป็นการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับรายจ่ายของประเทศแทนนั้น ซึ่ง กอปศ.ยืนยันว่าจำเป็นต้องระบุงบร้อยละ 5 ของงบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่จากกระทรวงศึกษาฯ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงงบประมาณทุกอย่าง โดยหวังให้งบฯ ก้อนนี้ เป็นส่วนที่เข้ามาบริหารจัดการดูแลผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา เพื่อความเสถียรภาพของกองทุน
สำหรับสิ่งที่ กอปศ.ต้องทำต่อ ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของกอปศ. คือศึกษารายละเอียดแผนจัดการกองทุน เพื่อให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของเงินช่วยเหลือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และให้ใช้งบประมาณ ร้อยละ 5 ของงบการศึกษาทั้งหมดหรือราว 25,000 ล้านบาท เชื่อว่าปีนี้จะได้เบิกงบดังกล่าว ส่วนปีต่อไปต้องทำแผนเป็นรายปี ซึ่งอาจเกิดความไม่แน่นอน หากรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญก็จะไม่จัดงบส่วนนี้ให้ก็เป็นได้ เช่นเดียวกับงบส่งเสริมสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ได้ แค่ปีเดียวเท่านั้น เป็นต้น
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) กล่าวว่าประเด็นในเรื่องของแหล่งที่มาเงินทุนที่จะเข้าสู่กองทุนฯ จากเดิมในร่างกฎหมายที่กอปศ.จัดทำเสนอให้จัดสรรร้อยละ 5 จากงบด้านการศึกษา แต่ร่างที่ผ่าน สนช.วาระ1ให้จัดสรรทุนประเดิม1,000 ล้านบาทเข้ากองทุนและให้เสนอแผนงานที่ชัดเจนเสนอต่อคณะกรรมการกองทุน และคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติแล้ว สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบฯให้อย่างเพียงพอ แต่ในฝ่ายที่ยกร่าง พ.ร.บ.นี้มีความกังวลว่าหากเวลาเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ คนอาจไม่เข้าใจและไม่สามารถจัดได้ตามความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้อาจจะมีการแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายอีกครั้งในชั้นกรรมาธิการได้ ตนจะเป็นผู้แทนกอปศ.เข้าชี้แจงเหตุผลที่เสนอบรรจุงบร้อยละ 5ไว้ในกฎหมายต่อกรรมาธิการในวันที่ 28 ก.พ.นี้
นายประสาร กล่าวอีกว่า ที่ต้องการเสนอให้มีเงินทุนเข้ากองทุนตามที่กอปศ.เสนอบรรุจไว้เดิม เนื่องจากมองว่าหากมีการจัดงบประมาณด้านการศึกษาไว้เท่าไหร่ ก็อยากจัดงบประมาณมาใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาครูไว้ร้อยละ 5 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณมีความกังวลว่าจะเป็นการทำเป็นตัวอย่างแล้วหน่วยงานอื่นๆจะทำในลักษณะเดียวกัน แต่ในการเสนอบรรจุร้อยละ 5ของกอปศ.มีการคำนึงถึงประเด็นนี้เช่นกัน จึงอ้างอิงร้อยละ 5ของงบด้านการศึกษา ไม่ใช่งบประมาณทั่วไป และมีการวางกรอบเวลาช่วง 5 ปีในการสร้างระบบและสร้างตัวอย่าง หลังจากนั้นก็ใช้อ้างอิงจากผลงาน โดยจะมีการชี้แจงในชั้นกรรมาธิการต่อไป
โดยในร่าง พ.ร.บ.ได้มีการกำหนดแหล่งทุนอื่นไว้ด้วย เช่น เงินบริจาคให้ได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี หรือถ้าจำเป็นก็ขอรัฐบาลขอรายได้ส่วนหนึ่งจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนเงินประเดิม 1,000 ล้านบาท คงไว้เพื่อวัตถุประสงค์รักษาความมั่นคงของสำนักงานกองทุน เพราะเมื่อจัดตั้งแล้วจำเป็นที่จะต้องรับพนักงานและต้องมีเงินเดือนและค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม การคงอัตราร้อยละ 5 ไว้ในร่าง พ.ร.บ.เช่นเดิม จะทำให้มี ความมั่นใจมากขึ้นว่ามีทรัพยากรในระดับพียงพอที่จะให้กองทุนฯ สามารถดำเนินภารกิจได้ตามเป้าหมาย
“ตามบทบัญญัติในร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านวาระแรกไม่ได้มีอะไรที่ชี้ไปในทางที่ว่า ปฏิเสธไม่ให้งบประมาณ เพียงบอกว่าไม่อยากให้ใส่ตัวเลข แต่ให้ทำแผนและถ้าแผน ครม.เห็นชอบด้วย สำนักงบก็จัดให้เพียงพอ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ขึ้นกับว่าการจัดทำแผนต้องเป็นที่น่าเชื่อถือแค่ไหน มีตัวเลขยืนยันเพียงใด และ ครม.มีความมุ่งมั่นแค่ไหน ส่วนเรื่องการปรับขนาด แน่นอนว่าโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร ซึ่งจากงานวิจัยพบว่ามีเด็กและเยาวชนที่กองทุนจะเข้าไปช่วยเหลือประมาณ 4.3 ล้านคนและครูอีกจำนวนหนึ่งและมีหลักการว่าจะเข้าไปสนับสนุนในรูปแบบใด อัตราอุดหนุนคนละเท่าไหร่ หากสมมติฐานว่าเงินกองทุนได้น้อยก็ต้องไปปรับกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ จำนวนคนที่ได้รับการช่วยเหลืออาจจะลดลง หรือจำนวนเงินต่อหัวที่ได้รับการช่วยเหลือลดลง ซึ่งวิธีการบริหารจัดการอาจจะต้องปรับเปลี่ยน”นายประสาร กล่าว
สำหรับร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. …เป็น 1ใน 4 พระราชบัญญัติ ที่ กอปศ.ทำงานอยู่ โดยในหลักการกำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท และกำหนดให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเป็นรายปี ในวาระแรกเริ่มเป็นเวลา 5 ปีไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของเงินงบประมาณที่เกี่ยวกับการศึกษาของปีงบประมาณก่อนหรือ ประมาณ 25,000 ล้านบาท ซึ่งกฎหมายนี้ มีความหวังว่า จะช่วยให้เด็กนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มยากจนในประเทศประมาณ 3 ล้านคน ได้เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียม และเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา.-สำนักข่าวไทย