กทม. 21 ก.พ.- กทม.ปูพรมตรวจใบอนุญาตตลาด 365 แห่งทั่วกรุงฯเพื่อให้ถูกต้องและปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้(21 ก.พ.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ได้สั่งการให้คณะผู้บริหารแต่ละกลุ่มโซน ไปดูแลและกำชับสำนักงานเขต 50 เขต ลงพื้นที่ตรวจสอบใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารและการจัดตั้งตลาด เพื่อให้ถูกต้องและปลอดภัย โดยการอนุญาตก่อสร้างอาคาร ขออนุญาตที่สำนักการโยธา โดยจะต้องออกแบบและก่อสร้างให้ถูกต้อง ส่วนการขออนุญาตจัดตั้งตลาดจะต้องขออนุญาตที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งการขอใบอนุญาตการประกอบกิจการ จัดตั้งตลาด สามารถติดต่อฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ได้ที่สำนักงานเขต 50 เขต
โดยการยื่นคำขอรับใบอนุญาตจัดตั้งตลาดจะต้องมีหลักฐาน ประกอบด้วย 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขอรับใบอนุญาต 2. สำเนาทะเบียนบ้านของสถานที่ใช้เป็นที่ตั้งตลาด 3. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แทนนิติบุคคล (กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้แจ้งเป็นนิติบุคคล) 4. ใบอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือหลักฐานที่ใช้แสดงว่าที่ตั้งสถานประกอบการสามารถใช้ประกอบกิจการนั้นได้ โดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 5. หนังสือยินยอมให้ใช้อาคารหรือสำเนาหนังสือสัญญาเช่าจากเจ้าของอาคาร 6. หนังสือมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีผู้ประกอบการไม่สามารถมายื่นคำขอด้วยตนเอง) 7. ผลการตรวจสุขภาพ หรือใบรับรองแพทย์ของผู้ขายของหรือผู้ช่วยขายของในตลาด 8. สำเนาใบวุฒิบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของกรุงเทพมหานคร (ถ้ามี) 9. แผนที่สังเขปแสดงสถานที่ตั้งสถานประกอบการ 10. ใบอนุญาตจากส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน กทม.มีตลาด 365 แห่ง แบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทที่ 1 มีโครงสร้างอาคาร 144 แห่ง ประเภทที่ 2 ไม่มีโครงสร้างอาคาร 221 แห่ง ซึ่งทุกปี กองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย จะตรวจประเมินการสุขาภิบาลตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมตลาด ด้านความปลอดภัยอาหาร และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ได้รับป้ายรับรอง โดยในปี 2560 มีตลาดไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมตลาด ด้านความปลอดภัยอาหาร และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งสองประเภท 137 แห่ง อย่างไรก็ตาม กทม.ได้จัดให้มีการตรวจและล้างตลาดต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนัก และมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดให้สะอาดและถูกสุขลักษณะ.-สำนักข่าวไทย