กรุงเทพฯ 19 ก.พ. – รฟม.ร่วมกับตำรวจเตรียมความพร้อม ก่อนปิดถนนทางยกระดับรามคำแหงขาเข้า 23 ก.พ.นี้ ก่อสร้างรถไฟฟ้าสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม- มีนบุรี
นายวิทยา พันธ์มงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วยพลตำรวจตรีจิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และเอกชนผู้รับเหมางานก่อสร้าง ร่วมแถลงข่าว แผนการปิดถนนบนสะพานยกระดับรามคำแหงขาเข้า ซึ่งเป็นแผนการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีรามคำแหง 12 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี
นายวิทยา กล่าวว่า การก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีรามคำแหง 12 กิจการร่วมค้าซีเคเอสที ซึ่งเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินสัญญาที่ 2 ช่วงรามคำแหง 12 ตำบลหัวหมาก มีความจำเป็นต้องปิดการใช้ทางบนทางยกระดับรามคำแหงขาเข้าบริเวณซอยรามคำแหง 8 ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 23.00 น.เป็นต้นไป โดยการปิดการจราจรเพื่อดำเนินการก่อสร้างผนังของอุโมงค์ ของระบบรถไฟฟ้า เชื่อว่าการปิดสะพานจะใช้เวลา 30 เดือน และสามารถคืนผิวจราจรบนสะพานให้สัญจรได้ในเดือนสิงหาคม 2563
พลตำรวจตรีจิรพัฒน์ กล่าวว่า การจัดการจราจรบนทางยกระดับรามคำแหงจะแบ่งเป็นช่วงเวลาประกอบด้วยตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป หลังเวลา 23. 00 น. ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาปกติของแผนจัดการจราจร (10.00 น.ถึง 16.30 นาทีและ 20.00 ถึง 05.30 น.) รถขาเข้าเมืองจะเปิดทางยกระดับฝั่งขาออกสำหรับรถขาเข้าเมือง 1 ช่องทางและรถขาออกเมืองหนึ่งช่องทางและขยายเพิ่มเป็นฝั่งนะ 2 ช่องทางตามปกติบริเวณทางยกระดับหน้าการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังมีแผนการจัดจราจรระหว่างเวลา 05.30 – 10.00 น ซึ่งถือเป็นชั่วโมงเร่งด่วนรถขาเข้าเมืองจะเปิดทางยกระดับรองรับปริมาณรถเข้าเมือง 2 ช่องทาง โดยเบี่ยงไปลงฝั่งขาออก ขณะที่รถที่ใช้ผิวจราจรขาออกเมืองให้ใช้ทางราบเท่านั้น ส่วนชั่วโมงเร่งด่วนตอนเย็นระหว่างเวลา 16.30 – 20.00 น. รถขาออกเมืองจะเปิดการจราจรบนทางยกระดับรองรับปริมาณทางออกเมือง 2 ช่องทาง ขณะที่รถขาเข้าเมืองจะกลับไปใช้ถนนทางราบเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจะพยายามจัดการจราจรให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุด โดยเฉพาะในจุดที่มีถนนแคบ เช่น บริเวณแยกหัวหมาก ก็จะมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร และอาสาสมัครจราจร เพื่ออำนวยการจราจรเกิดความคล่องตัวโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน
สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม- ถึงมีนบุรี มีสถานีต้นทางจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลโดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานี รฟม. สถานีวัดพระรามเก้า สถานีรามคำแหง 12 สถานีรามคำแหง สถานีรัชมังคลา สถานีหัวหมาก สถานีลำสาลี สถานีศรีบูรพา และสถานีคลองบ้านม้า และมีสถานียกระดับ 7 สถานี ได้แก่ สถานีสัมมากร สถานีน้อมเกล้า สถานีลาดพัฒนา สถานีมีนพัฒนา สถานีเคหะรามคำแหง สถานีมีนบุรี และสถานีสุวินทวงศ์ รวมระยะทาง 22.57 กิโลเมตร ปัจจุบันสิ้นเดือนมกราคม 2561 งานคืบหน้าร้อยละ 5.57 โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีกำหนดการเปิดให้บริการปี 2566 หรือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงจากกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง.-สำนักข่าวไทย