กรุงเทพฯ 7 ก.พ. – ธุรกิจบ้านโฉมใหม่รุกประหยัดพลังงาน นอกจากจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้ว ล่าสุดเสนาฯ เปิดบริการติดตั้ง EV Charger สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมุ่งเน้นให้บริการพิเศษสำหรับเทรนด์สังคมผู้สูงวัย พร้อมลงทุนสร้างบ้านในพื้นที่อีอีซี หากแผนลงทุนภาครัฐ-เอกชนชัดเจน
นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ผู้ดำเนินโครงการหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เต็มรูปแบบรายแรกของไทย เปิดเผยว่า ปี 2561บริษัทได้นำร่องติดตั้งเครื่องชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า (EV Charger ) ภายใต้ชื่อ EV ready รองรับยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ให้กับบ้านราคา 5-10 ล้านบาททุกหลังภายในโครงการที่พักอาศัยของเสนา 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเสนาพาร์คแกรนด์ รามอินทรา –วงแหวน และโครงการเสนา พาร์ค วิลล์ รามอินทรา – วงแหวน หลังจากนั้นจะขยายทุกโครงการใหม่ในอนาคต เป็นการให้บริการเพิ่มจากที่บริษัทให้บริการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา 2 กิโลวัตต์ ทำให้ลูกบ้านประหยัดค่าไฟฟ้าประมาณ 800-1,000 บาท/เดือน และเพื่อเป็นทางเลือกลูกบ้านสามารถเสนอติดตั้งเพิ่มเป็น 3.5- 4 กิโลวัตต์ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในสินเชื่อบ้านประมาณ 70 บาท/เดือนทุก 1 กิโลวัตต์ที่เพิ่มขึ้น
“กระแสรักษ์โลกส่งผลให้ขณะนี้ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีแนวโน้มของการขยายตัวที่ต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลส่งเสริมที่จะให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ความต้องการใช้ EV จะเพิ่มขึ้น การที่โครงการติดตั้งให้เพิ่มความสะดวกแก่ลูกค้าและสามารถกู้อยู่ในสินเชื่อบ้านตั้งแต่เริ่มก็จะจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 700 บาท/เดือน เป็นเวลา 30 ปี” นางสาวเกษรา กล่าว
ทั้งนี้ กระแสบ้านโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมอนุรักษ์พลังงานในขณะนี้มีการประชาสัมพันธ์หลายโครงการมีทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และการให้บริการ EV Charger ในโครงการคอนโดมิเนียม
นอกจากนี้ จากที่ไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทางเสนาได้เพิ่มการให้บริการติดตั้ง CCTV มีบริการ SOS เพิ่มเติม ผ่านแอพพลิเคชั่น SENA 3600 SERVICE โดยปีนี้จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวของไทยและดอกเบี้ยบ้านที่อยู่ในอัตราต่ำ เสนาฯ ได้วางแผนลงทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งแนวราบและแนวสูง 18 โครงการ ลงทุน 23,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้ายอดขายอสังหาฯ รวม 7,000 ล้านบาท และจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,200 ล้านบาท
นางสาวเกษรา กล่าวว่า บริษัทยังวางแผนจะลงทุนเพิ่มเติมในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อร่างกฎหมายอีอีซีผ่านความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้เดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้แล้ว ก็คาดว่าการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะชัดเจน ทางบริษัทก็จะซื้อที่ดินเพิ่มในอีอีซีเพื่อลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการอีกจำนวนมาก
นางสาวเกษรา กล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนและประชาชนเริ่มให้ความสนใจในการติดตั้งแผงโซลาร์มากขึ้นเพราะเริ่มมีความคุ้มทุนในการประหยัดพลังงาน เช่น ติดตั้งตามโรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้าปลีก บ้านที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ โดยปี 2560 ธุรกิจรับติดตั้งแผงโซลาร์ที่บริษัทร่วมทุนมีรายได้ให้บริการประมาณ 400 ล้านบาท และบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตแต่ละปีเฉลี่ยร้อยละ 5-10ต่อปี โดยปี 2561 บริษัทตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 480 ล้านบาท และปี 2562 คาดว่าจะมีรายได้ 500 ล้านบาท และปี 2563 คาดว่าจะมีรายได้ 520 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย