กรุงเทพฯ 2 ก.พ.- เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์เฮ ตำรวจ ธนาคาร และ ปปง. คืนเงินที่ยับยั้งจากการถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง ซึ่งวันนี้มีเหยื่อเข้ารับเงิน 16 ราย เงินกว่า 3 ล้านบาท ออกหมายจับเพิ่มคนไทยร่วมแก๊งอีกกว่า 100 คน
พลตำรวจเอกธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. และหัวหน้าศูนย์ป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ 4 ธนาคาร ได้มอบเงินคืนให้ผู้เสียหาย ครั้งที่ 6 จำนวน 16 ราย ในหลายพื้นที่ อาทิ สน.ลุมพินี สน.พญาไท สน.คลองตัน สน.บางนา สภ.เมืองชุมพร สภ.เมืองอุบลราชธานี สภ.โพทะเล จังหวัดพิจิตร ฯลฯ รวมเป็นเงินกว่า 3.2 ล้านบาท หลังอายัดเงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงผู้เสียหายไปยังบัญชีคนร้ายได้ทัน
ขณะที่ผลการอายัดเงินของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถอายัดเงินคืนให้กับผู้เสียหายได้แล้ว 39 ราย รวมเป็นเงินกว่า 9,260,000 บาท
พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ระบุสถานการณ์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ขณะนี้ถือว่าเบาบางลง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังร่วมกันกวาดล้างขบวนการดังกล่าวอย่างจริงจัง มีการทลายเครือข่ายรายสำคัญที่ประเทศมาเลเซียที่หลอกคนไทยในประเทศไทย รวมทั้งประสาน กสทช. บล็อกเบอร์โทรศัพท์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่โทรหลอกประชาชน ส่วนกรณีที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ช่องทางนำเงินไปลงทุนโดยโอนเข้าระบบสกุลเงินดิจิทัล สกุลบิทคอยน์นั้น ตำรวจได้เสนอไปยังรัฐบาลให้พิจารณาเพิ่มกฎหมายในการควบคุมสกุลเงินดิจิทัลแล้ว อีกทั้งยังประสานกับ 5 บริษัทตัวกลางบิทคอยน์ในประเทศไทยด้วย เพื่อช่วยตรวจสอบและอายัดก่อนที่เงินจะถูกโอนไปยังต่างประเทศ เพราะหากเงินถูกโอนเข้าสู่ระบบกลางในต่างประเทศจะไม่สามารถอายัดได้ นอกจากนี้ยังดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเสนอขอศาลอนุมัติหมายจับคนไทยที่รับจ้างเปิดบัญชีให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีอีกกว่า 100 คน
ด้านนายพีระศักดิ์ อิงพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงาน ปปง. ระบุจากการตรวจสอบของ ปปง. พบปริมาณของผู้ถูกหลอกลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงประชาชนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ประชาชนตื่นตัว เมื่อทราบว่าตัวเองถูกหลอกจะแจ้งกับเจ้าหน้าที่รวดเร็วขึ้น ทำให้การช่วยเหลือและอายัดเงินรวดเร็วขึ้นเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้กลโกงของคนร้ายมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ เช่น การใช้เอกสารปลอมทางราชการส่งตรงถึงบ้าน จึงฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ ควรตรวจสอบที่มาที่ไปของเบอร์โทรศัพท์หรือเอกสารต้องสงสัยที่ให้มีการโอนเงินไปบัญชีอื่น เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนรู้ว่าตัวเองถูกหลอกสามารถร้องขอความช่วยเหลือมาได้ที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155 หรือ 1710 หรือหมายเลข 191.-สำนักข่าวไทย