ทำเนียบฯ 30 ม.ค. – ครม.รับทราบการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 5-22 บาทต่อวัน มีผล 1 เมษายน 61 หลายหน่วยงานร่วมออก 3 มาตรการ บรรเทาผลกระทบเอสเอ็มอี นายกรัฐมนตรีกำชับดูแลราคาสินค้าห้ามแพงเกินจริง
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศให้ปรับเพิ่มขึ้น 5-22 บาทต่อวัน หรือตั้งแต่ 308-330 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงออก 3 มาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะเห็นว่าสัดส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นเอกชนรายใหญ่ยังพอรับภาระได้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเป็นความเห็นจากทั้ง 3 ฝ่ายได้ข้อยุติร่วมกัน
สำหรับกระทรวงการคลังออกมาตรการภาษี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ กำหนดให้นายจ้างนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้ลูกจ้างมาหักลดหย่อนภาษีในการคำนวนกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ 1.15 เท่า จากมาตรการเดิมหักลดหย่อน 1 เท่า บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2561 โดยมีเงื่อนไข คือ บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน รวมทั้งอัตราค่าจ้างรายวันที่จ่ายจะต้องสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิม มาตรการดังกล่าวรัฐบาลเสียรายได้ 5,400 ล้านบาทต่อปี แต่จะเป็นการลดภาระรายจ่ายและเพิ่มการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นับว่าเป็นการช่วยลดภาระคนละครึ่งระหว่างเอกชนและรัฐบาลประมาณ 9-10 บาท
ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจเอสเอ็มอี ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หวังให้เอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกิจต่อไป โดยมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายของกิจการ เพื่อไปชดเชยภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการปี 2561-2563 ใช้งบประมาณรวม 5,000 ล้านบาท โดยปี 2561 จะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ปี 2562 ใช้งบ 2,500 ล้านบาท และปี 2563 ใช้งบ 2,000 ล้านบาท ด้วยการส่งคณะทำงาน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และสถาบันการเงิน ที่มีบทบาทหน้าที่ส่งเสริมเอสเอ็มอี ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา กำหนดแนวทาง และหลักเกณฑ์ผู้เข้าร่วมโครงการ
โดยจะเปิดรับสมัครและคัดเลือกสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ พร้อมจัดสัมมนาชี้แจงแนวทางการดำเนินการ, จัดทำฐานข้อมูลโครงการ, สำรวจสถานประกอบการ ตลอดจนจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งนี้เบื้องต้นกำหนดเอสเอ็มอีเป้าหมาย โดยจังหวัดขนาดใหญ่ 25 จังหวัด จังหวัดละ 100 กิจการ, จังหวัดขนาดกลาง 33 จังหวัด จังหวัดละ 60 กิจการ และ จังหวัดขนาดเล็ก 19 จังหวัด จังหวัดละ 28 กิจการ ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 จะกระทบทางตรงต่อต้นทุนของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5-1 ของต้นทุนทั้งหมด แต่เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 10 เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหรือลดต้นทุนได้ร้อยละ 3-5 ของต้นทุนรวมทั้งหมด คาดว่าภายใน 3 ปี มีกลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอี 50,000 กิจการ และบุคลากรเอสเอ็มอีได้รับการถ่ายทอดความรู้ 250,000 คน
สำหรับมาตรการที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกมาตรการลดผลกระทบจากการลดการใช้แรงงาน โดยแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 50 ของราคาเครื่องจักร และการปรับปรุงมาตรการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่ม เพื่อพัฒนาความสามารถจากการแข่งขันเดิมของปี 2557 โดยจะขยายให้ครอบคลุมการอบรมบุคลากรให้มีทักษะเพิ่มขึ้น โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่า ของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 ปี มาตรการลงทุนจากเดิมช่วยเหลือด้านวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีชั้นสูง วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ ขยายเพิ่มเป็น ด้าน Big Daata, Internet ได้รับยกเว้นภาษี 2 เท่าเช่นเดียวกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุม ครม.มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งหามาตรการช่วยเหลือร้านค้าและผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อลดผลกระทบที่จะได้รับจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลบังคับใช้ไม่ให้ฉวยโอากาสเพิ่มราคาสินค้าสูงเกินจริง เพราะค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นสัดส่วนน้อยมาก เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ. – สำนักข่าวไทย