ก.แรงงาน 24 ม.ค.-รองนายกฯวิษณุ เดินหน้าทำความเข้าใจแผนปฏิรูปประเทศที่กระทรวงแรงงานเป็นที่แรก ย้ำต้องเร่งศึกษา เสนอความคิดเห็นภายใน 1 เดือน ฝากตั้ง ป.ย.ป.ตามกรอบที่กำหนด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย แก่คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ในงานสัมนาผู้บริหารกระทรวงแรงงานเพื่อก้าวสู่ผู้บริหารมืออาชีพ ที่ห้องประชุม จอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่าการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบก่อน ทั้งกฎหมาย องค์กร โครงสร้าง นิสัยข้าราชการ จากนั้นจึงจะสามารถเปลี่ยนสิ่งรอบข้างได้ มีองค์ประกอบ 4 พี คือผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ ก้าวไกล ดึงประชาชนให้เข้าร่วมได้ มีกระบวนดำเนินงานเป็นแบบแผนและวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยน แปลงต้องชัดเจน ซึ่งผู้นำต้องเด่นเรื่องความคิดเพื่อที่ผู้ตามจะได้กล้าปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ และปัจจัยที่สำคัญคือต้องมีเวลาในการทำงาน
เมื่อทำผิดแล้วต้องสามารถแก้ไขได้
สำหรับร่างแผนปฏิรูปประเทศ ฉบับที่ 1 เสร็จสิ้นไปแล้วและกำลังเดินหน้าร่างฉบับที่ 2 และ 3 คาดเสร็จสิ้นประมาณปลายเดือนมี.ค.นั้น ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ ทุกกระทรวงให้เร่งศึกษาแผนร่างฉบับที่ 1 เพื่อดูว่ามีประเด็นใดที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก่อนนำเสนอแนวทางไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาปรับปรุงต่อไป โดยให้เวลาศึกษาแผนภายใน 1 เดือน รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือคณะกรรมการ ป.ย.ป.เพื่อเป็นศูนย์รวมความรู้เรื่องแผนปฏิรูปที่จะคอยสอดส่องการทำงานแต่ละกระทรวงว่าทำตามแผนชาติหรือไม่ ซึ่งควรเร่งดำเนินการแต่งตั้งตามกรอบเวลาที่กำหนด โดยให้สังกัดสำงานปลัดประจำกระทรวง โดยจะต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และไม่ควรเอาข้าราชการที่ว่างงานมาทำ และเน้นย้ำให้กระทรวงทำงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ โดยไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะแผนนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ ตามที่แต่ละกระทรวงเสนอมาก่อนร่างจะเสร็จสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้านที่เเต่งตั้งขึ้น มีอายุงาน 5 ปี เพื่อทำหน้าในการตรวจสอบว่าข้าราชการปฏิบัติตามแผนหรือไม่ หากพบไม่ปฏิบัติ หรือทำผิดจากแผน มีโทษ เริ่มจากการตักเตือน เพื่อให้แก้ไขการทำงาน หากยังไม่ดำเนินการ จะรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่หากคณะรัฐมนตรีเพิกเฉยละเลย จะแจ้งเรื่องไปยังสภาฯเพื่อลงโทษ ตัดงบประมาณ และเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และสุดท้ายคือรายงานให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ตรวจสอบ และดำเนินคดี .-สำนักข่าวไทย