จ.พิษณุโลก19 ม.ค.-รมว.ศึกษาฯ ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก ติดตามปัญหาการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในโรงเรียน หลังมีนโยบายทุกโรงเรียนต้องได้ใช้ไฮสปีดอินเทอร์เน็ตภายในสิ้นปีนี้ จ.พิษณุโลกเหลือเพียง 13 โรงเรียนที่อยุ่ระหว่างดำเนินการจัดหาอินเทอร์เน็ต เหตุไม่มีงบ ครูไม่มีความรู้ เลขาสพฐ.ฟันทุกโรงเรียนต้องมีไฮสปีดอินเตอร์เน็ตภายใน 31 มี.คนี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ติดตามและประชุมชี้แจงนโยบายการจัดทำระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อชี้เเจงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจเกี่ยวกับสภาพการดำเนินงาน ประสบการณ์การติดตั้งการวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเเละการจัดหาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้ให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการระบบเครือข่ายได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน ณ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ประเทศไทยพูดถึง 4.0 เเต่ระบบไอทีเเละเทคโนโลยีในประเทศกลับไม่พัฒนา ซึ่งในหลายโรงเรียน เด็กยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการใช้อินเตอร์ความเร็วสูง สิ่งสำคัญในการปฏิรูปเด็ก คือการนำอินเตอร์เน็ตเข้าถึงในทุกโรงเรียน ให้เด็กได้มีโอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยให้ไทยได้เข้าใกล้ยุค 4.0 ได้มากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ให้ครูและนักเรียนได้เข้าถึงแหล่งความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยยกเลิกการใช้งานเครือข่าย MOENet ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมาเพราะเสียงบประมาณส่วนนี้เกือบสองพันล้านบาท เเต่โรงเรียนไม่ได้นำมาใช้ เพราะความไม่เสถียรเเละความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ต่ำมาก อีกทั้งชี้ชัดว่าการบริหารจากส่วนกลางในเรื่องนี้อาจไม่มีประสิทธิภาพ/โดยให้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากเครือข่ายUninet แทน ส่วนโรงเรียนใดที่ไม่ได้ใช้บริการเครือข่าย Uninet ก็จะเปิดโอกาสให้เลือกใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่ดีและมีประสิทธิภาพจากผู้ให้บริการในพื้นที่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ของบริษัท TOT CAT เเละ 3BBพร้อมให้รายงานสภาพการจัดหาและการใช้งานอินเทอร์เน็ตของหน่วยงานให้ส่วนกลางทราบเพื่อช่วยเหลือต่อไป
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสพฐ.ไม่เคยทราบตัวเลขของโรงเรียนที่มีปัญหาอินเตอร์เน็ต เเละจ่ายเงินไปทุกเดือนในอินเตอร์เน็ตที่ไม่มีใครใช้ ทุกคนจึงควรช่วยกันวางรากฐานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือเด็ก ตนจึงวิเคราะห์จุดอ่อนของผู้บริการอินเตอร์เน็ตเพื่อดำเนินการให้อินเตอร์เน็ตให้มีความเร็วสูงที่สุด ต่อไปนี้ส่วนกลางจะเป็นฝ่ายเอื้อเเละช่วยอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้เเต่ละโรงเรียนบริหารจัดการจัดหาอินเตอร์เน็ตที่เหมาะสมกับบริบทโรงเรียนมากที่สุด ขณะเดียวกันหากเรื่องนี้เดินหน้าไปได้ดี ก็จะรับกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่จะให้กระทรวงดำเนินการเรื่องดิจิทัลเลิร์นนิ่งในทุกระดับการศึกษาให้ได้
ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ.จะสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเช่าอินเทอร์เน็ตเพื่อดูว่างบประมาณที่มีจะจัดสรรช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลางเเละขนาดใหญ่ได้เพียงใด โดยคาดว่าขนาดเล็กน่าจะช่วยได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันกำหนดให้ทุกโรงเรียนต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ภายใน 31 มี.ค.2561นี้
ขณะที่นายสนิท เเย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ได้สำรวจสถานการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตของสถานศึกษาสังกัด สพฐ.พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ดำเนินการจัดหาอินเตอร์เน็ตเเล้ว จาก ทั้งหมด225 เขตพื้นที่มี 50 เขตพื้นที่ที่ทุกโรงเรียนในพื้นที่นั้นจัดหาอินเทอร์เน็ตครบถ้วนเเล้ว,95 เขตพื้นที่ ดำเนินการจัดหาร้อยละ 90-99 , เเละมีเพียง 2เขตที่ดำเนินการได้น้อยกว่าครึ่ง
หากเเบ่งเป็นจำนวนโรงเรียน จากทั้งหมดทั่วประเทศ 29,585 โรงเรียน ดำเนินการเเล้ว 26,084 เเห่งคิดเป็นร้อยละ 88 ส่วนใหญ่ใช้บริการจากบริษัทอื่น อาทิ ทีโอที CATเเละ 3BB อยู่ระหว่างดำเนินการ1,407 เเห่งเเละยังไม่ดำเนินการ 2,094 เเห่ง เหตุเพราะใช้อินเทอร์เน็ตร่วมกับชุมชนหรือโรงเรียนอื่น ยังไม่เช่า อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเเละไม่มีงบประมาณ อีกทั้งครูไม่มีความมั่นใจหรือความรู้ด้านการจัดระบบอินเทอร์เน็ต ส่วนใน จ.พิษณุโลก โรงเรียน 453 เเห่งมีเพียง 13 เเห่งที่กำลังดำเนินการ ซึ่งคาดไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้จะครบถ้วน โดยตัวเเทนครูระบุว่า Uninet ดีเเต่ควรจะมีการบริหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนเเต่ละเเห่งต้องเเบ่งสัญญาณ ความเร็วจึงไม่เร็วเท่าที่ควร
ส่วนนายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2560ผู้บุกเบิกการสอนไอซีที กล่าวว่า สิ่งเเรกที่โรงเรียนควรวิเคราะห์คือ เราใช้อินเทอร์เน็ตทำอะไรถ้าใช้เเค่งานบริหารเเละการสื่อสารกับกระทรวงศึกษา ธิการอาจใช้เเค่อินเทอร์เน็ตบ้าน เเต่หากใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอน บางครั้งความเร็ว 100 เมกะไบต์อาจน้อยไป อีกสิ่งสำคัญหากมีการจัดหาอินเทอร์เน็ต ครูต้องรู้เท่าทันเวลาสอบราคา เพราะปัจจุบันราคาอินเทอร์เน็ตถูกลง อีกทั้งโรงเรียนต้องประเมินว่าต้องการใช้อินเทอร์เน็ตมากน้อยเเค่ไหน มิเช่นนั้นทุ่มงบไปก็สูญเปล่าหากไม่เกิดประโยชน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รมว.ศึกษาธิการ ได้เดินทางไปติดตามการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและการใช้อินเทอร์เน็ตที่โรงเรียนสะพานที่ 3 ซึ่งพบว่าไม่ได้ใช้ MOENet เเต่ใช้Uninetจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเเละวิทยาลัยบึงพระ ความเร็วที่ได้รับมีเเค่ 80 เมกะไบต์ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน .-สำนักข่าวไทย