กทม. 14 ม.ค. – ปัจจุบันมีการแข่งขันของเด็กระดับอนุบาล เพื่อเตรียมสอบเข้า ป.1 โรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพฯ พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกสอบเข้าได้ ทำให้มีธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเด็กเล็กเกิดขึ้นหลายแห่ง บางสถาบันผู้ปกครองต้องเสียเงินกวดวิชานับแสนบาท
ตัวอย่างข้อสอบเข้า ป.1 วิชาเสริมทักษะเชาว์ปัญญา มองภาพที่สอดคล้องกันของสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และวงกลม ชุดนี้ “น้องแซน” นักเรียนชั้นอนุบาล 3 วัย 5 ขวบ ตอบได้ถูกทุกข้อ
“น้องแซน” มาเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาแถวสามย่านสัปดาห์ละครั้ง หลังเลิกเรียนจากโรงเรียนอนุบาลย่านสาทร คุณแม่จะพาน้องมาเรียนเพื่อเสริมทักษะ และมารู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ยังมีเด็กอนุบาล 3 อายุ 4-5 ขวบ อีกหลายคนที่มาเรียนที่นี่ ส่วนใหญ่พ่อแม่คาดหวังที่จะปูพื้นฐานด้านความคิด ทักษะเชาว์ปัญญา ฝึกทำแนวแบบฝึกหัด เพื่อเตรียมสอบเข้า ป.1 โรงเรียนที่หวัง
วิชาการสอนอนุกรมสำหรับเด็กเล็ก ฝึกนับเลขในใจ เด็กๆ มีสมาธิกับการเรียนและรู้สึกสนุก เป็นหนึ่งในเทคนิคการสอน ครูบอกว่าหลักสูตรนี้จะเรียน 1 ปี เรียนสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง การฝึกสอนทักษะเชาว์ปัญญาช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กเล็กได้ และไม่ทำให้เด็กเกิดความเครียด แม้จะมีค่านิยมอยากให้ลูกเรียนในโรงเรียนชื่อดัง แต่ครูย้ำว่าพ่อแม่เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยลูกให้มีพัฒนาการที่ดีได้ การเรียนกวดวิชาเป็นเพียงการเสริม
การกวดวิชาให้เด็กอนุบาลเพื่อเตรียมสอบเข้า ป.1 ในโรงเรียนชื่อดัง โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนสาธิต เช่น โรงเรียนสาธิตจุฬา สาธิตเกษตร สาธิตประสานมิตร รวมทั้งโรงเรียนเอกชนชื่อดังหลายแห่ง เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกเรียนต่อเนื่องจนจบมัธยมปลาย โดยไม่ต้องย้ายโรงเรียนบ่อยๆ ด้วยความเชื่อเรื่องโรงเรียนดี วิชาการดี สังคมดี ปัจจุบันมีการรับจ้างติวให้เด็กอนุบาลแบบตัวต่อตัวแพร่หลาย ราคาชั่วโมงละหลักร้อยบาท ไปจนถึงแบบมีสถาบันกวดวิชาที่ราคาคอร์สละหลายหมื่นบาท ผู้ปกครองยอมรับว่า ความคาดหวังให้ลูกสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ เพราะมองเห็นถึงคุณภาพการศึกษา แต่หากลูกสอบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
ประธานคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา บอกว่า การสอบแข่งขันเข้า ป.1 โรงเรียนดังมีการแข่งขันสูงโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ส่วนใหญ่ในโรงเรียนทั่วไปไม่มีการสอบเข้า ป.1 ของเด็กอนุบาลแล้ว การแข่งขันเข้าเรียนโรงเรียนดังเป็นความคาดหวังให้กับพ่อแม่ และเป็นความกดดันมาถึงลูก
ปัจจุบันเด็กอนุบาลหลายคนถูกพ่อแม่พาไปเรียนกวดวิชามากกว่าหนึ่งแห่ง เช่น เย็นหนึ่งเรียนวิชาเชาว์ เย็นวันต่อไปเรียนอังกฤษ เรียนคณิตศาสตร์ และมีข้อมูลว่ามีโรงเรียนกวดวิชาเด็กเล็กเกิดขึ้นนับสิบแห่ง แต่มีน้อยมากที่จดทะเบียนถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ล่าสุดคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษากำลังรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับแก้กฎหมาย ปรับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย เพราะเห็นว่าเด็กช่วงอายุไม่เกิน 8 ปี สมองเติบโตเร็วที่สุด จึงควรเน้นการเรียนให้สนุกกับธรรมชาติตามพัฒนาการ หากเน้นความรู้ทางวิชาการมากเกินไปจะเป็นการสร้างแรงกดดันและทำให้กลายเป็นเด็ก ป.1 ที่ไม่มีความสุขในการเรียน. – สำนักข่าวไทย