กรุงเทพฯ 12 ม. ค. – เอกชน-คณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน หนุนใช้ไบโอดีเซลบี 10 ดูดซับปาล์ม ด้านภาครัฐแบ่งรับแบ่งสู้ขอทดลองนำร่องบี 10 ในรถไฟก่อน หลังค่ายรถยนต์ยังไม่พร้อมรับบี 10
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาถึงแนวทางส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 โดยจะทดลองนำร่องกับรถไฟเส้นทางวงเวียนใหญ่-มหาชัย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากกระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติ
“บี 10 ในรถไฟ แม้ว่าจะมีปริมาณไม่มาก แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าใช้ได้ก็จะส่งเสริมให้เดินไปข้างหน้าได้ แต่ต้องมองเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ด้วยต้องมีมาตรการกำกับดูแลและไม่กระทบผู้ใช้ดีเซลด้วย” นายศิริ กล่าว
ส่วนที่มีข้อเสนอปรับราคาหน้าโรงกลั่น โดยไม่ควรให้มีค่าปรับปรุงคุณภาพกำมะถันนั้น ซึ่งอาจมีผลให้ราคาดีเซลลดลง 20-30 สต./ลิตร นั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า เห็นด้วยที่ไม่ควรมีการกำหนดการอ้างอิงใด ๆ ที่เป็นภาระต่อประชาชน โดยทุกอย่างควรเป็นเสรีมากที่สุด
นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้เสนอแนวทางส่งเสริมการใช้พืชพลังงานช่วยเหลือเกษตรกร หากใช้อี 20 ทดแทนได้ทั้งหมดจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น 2-3 ล้านไร่ และหากบี 10 จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปลูกปาล์มเพิ่มขึ้น 7 ล้านไร่
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเรื่องการเพิ่มส่วนผสม ทั้งเอทานอล จากอี 10 เป็นอี 11หรืออี 12 จะช่วยเพิ่มการใช้เอทานอล ทุกร้อยละ 1 ที่เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มการใช้เอทานอลได้ถึง 200,000 ลิตรต่อวัน ช่วยชาวไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยามมีปัญหาได้ดี เช่นเดียวกับดีเซล ถ้าเปลี่ยนจากบี 7 เป็นบี 8 หรือบี 9 จะช่วยเพิ่มการใช้ไบโอดีเซลได้มาก ทุกร้อยละ 1 ที่เพิ่มขึ้น เพิ่มการใช้ไบโอดีเซลประมาณ 600,000 ลิตรต่อวัน หรือน้ำมันดิบปาล์ม (CPO) ประมาณ 500ตันต่อวัน แก้ปัญหาน้ำมันปาล์มล้นได้ผลดี
“เรื่องการเพิ่มส่วนผสมไบโอดีเซล หากการผสมเพิ่มขึ้นจากบี 7 อีกร้อยละ1-2ไม่มีปัญหาเลย รวมถึงการใช้งานด้วย ยิ่งไบโอดีเซลผสมมากกว่านี้ก็ไม่มีปัญหาการใช้ แต่บริษัทรถยนต์จะไม่ค่อยยอมต้องรอไปทดสอบ ดูใช้เวลามากไม่สามารถนำมาแก้ปัญหายามต้องการเร่งด่วนได้” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ เสนอว่าถ้ากระทรวงพลังงานสนใจเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซล น่าจะทำการทดสอบร่วมกับบริษัท น้ำมัน เช่น ปตท. หรือบางจากฯ และบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ฝรั่ง ในการเพิ่มส่วนผสมประเทศไทย สามารถผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลได้มาก ไม่จำเป็นต้องยึดอยู่กับอี 10 หรือบี 7 น่าจะเพิ่มส่วนผสม เพราะจะช่วยเกษตรกรได้มาก
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากฯ กล่าวว่า หากผสมบี 10 ได้จะช่วยดูดซับผลปาล์มที่ล้นตลาด แต่เพื่อแก้ไขปัญหาที่ไบโอดีเซลจะมีผลจากอากาศเย็นอาจส่งผลให้คุณภาพน้ำมันเปลี่ยนแปลงไป ภาครัฐอาจจะกำหนดว่าในช่วงอากาศหนาวเย็นกำหนดใช้บี 7 ส่วนช่วงอื่น ๆ ในฤดูร้อนฤดูฝน ก็กำหนดใช้บี 10 ได้.- สำนักข่าวไทย