ปทุมวัน 11ม.ค.-นักวิชาการร้องวันเด็กต้องฟังเสียงเด็กให้มีส่วนร่วมเเก้ปัญหาด้วยตัวเด็กเองพร้อมเร่งพัฒนาคุณภาพเด็ก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาวิชาการ”วันเด็ก ขอนโยบายดีกว่าคำขวัญ” นำเสนอกรณีศึกษาวันเด็กใน 11 ประเทศเเละเทียบกับวันเด็กของไทยและผลสำรวจเสียงสะท้อนที่มีต่อวันเด็กไทย โดยนายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็กเยาวชน ขณะที่เปิดเวทีเเลกเปลี่ยนความเห็น”ทำอย่างไรให้วันเด็กเป็นมากกว่าคำขวัญ”ระหว่างตัวเเทนเยาวชนคนรุ่นใหม่เเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก
นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็กเยาวชน กล่าวว่า คำขวัญวันเด็กประจำปีนี้คือ รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี ซึ่งคำขวัญที่มีตั้งเเต่ปี 2499 เป็นต้นมาจะเน้นเรื่องของการเรียนหนังสือ เทคโนโลยี เเละการเป็นเด็กดี คุณธรรม เเต่เด็กได้อะไรจากคำขวัญหรือจากงานวันเด็กบ้าง นอกจากการได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เปิดเข้าชมสวนสัตว์ฟรี ทำกิจกรรมต่างๆทั้งเล่นเกม ท่องคำขวัญชิงรางวัล โดยอ้างว่าช่วยปลูกฝังประชาธิปไตย ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะ สร้างวินัย เเล้วอีก 364 ประเทศไทยทำอะไรเพื่อเด็กบ้าง โดยโพลสำรวจความคิดเห็นเด็กพบว่าเมื่อพูดถึงวันเด็ก ส่วนใหญ่จะนึกถึงของขวัญเเละนึกถึงคำขวัญน้อยที่สุด , นโยบายสำคัญคือเด็กเห็นคือการส่งเสริมการศึกษา เเละกว่าครึ่งไม่ทราบนโยบายของเด็ก เเต่สิ่งที่เด็กอยากได้รับสนับสนุนมากที่สุดก็คือการพัฒนาการศึกษาเช่นเดียวกัน , สิ่งที่อยากบอกกับนายกรัฐมนตรีคือ เปิดโอกาสให้เด็กได้เเสดงออก ควรเลือกตั้งให้มีประชาธิปไตย ยกเลิกมาตรา 44 เเละสนับสนุนเด็กด้อยโอกาส
ขณะที่เมื่อมองต่างประเทศในการพัฒนาเด็ก มีนโยบายสำคัญด้านเด็ก ฟังเสียงเด็กให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายหรือกฎหมายด้านเด็ก อาทิ ฝรั่งเศส หลังพบว่าเด็กวัย 6-15 ปี ก้าวร้าว สมาธิสั้นเเละอ้วน ไม่วิ่งเล่น จึงออกกฎระเบียบห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน ,ไอซ์เเลนด์ ให้เด็กมีกิจกรรมทางเลือก จัดงบ 11,000 บาท/ปี/คน , อังกฤษ ให้เด็กเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม โดยให้เงินทุนตั้งต้น 40 ล้านปอนด์ , ลัตเวีย มีชนกลุ่มเเละชาติพันธุ์ จึงมีการออกเเบบหลักสูตรให้เรียนร่วมกัน , ออสเตรเลีย เด็กเป็นเหยื่อการรังเเกบนโลกออนไลน์ จึงให้พ.ร.บ.ความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเด็กวัย 5-25 ปี เป็นต้น
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า กฎหมายของไทยในการดูเเลเด็กมีความก้าวหน้า ลงนามให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีกฎหมายคุ้มครองเด็ก มีกองทุนสำหรับเด็ก เเต่กลับพบว่า เด็กจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ถูกล่วงละเมิดเเละเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ พ่อเเม่กว่าร้อยละ 50 เชื่อว่าการลงโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการสอนเด็ก จึงอยากเรียกร้องให้รัฐต้องปรับปรุงเเละพัฒนาคุณภาพเด็ก อยากให้มีนโยบายที่เกิดจากการฟังเสียงเด็กเเละเด็กมีส่วนร่วมดีกว่าออกนโยบายหลอกเด็กไปวันๆ เเต่ไม่ปฏิบัติตาม
ด้านน.ส.คำแลง ตัวแทนกลุ่มแกนนำเพื่อนเตือนเพื่อน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า คิดว่าการจัดงานวันเด็กอาจเป็นวันหนึ่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กเเต่วันอื่นๆอาจไม่ได้นึกถึงหรือละเลย วันเด็กไม่ได้เกี่ยวข้องกับเด็ก เเต่เป็นวันที่ผู้ใหญ่เเสดงออกว่ารักเด็ก ,วันเด็กของเด็กไร้สัญชาติอย่างตนไม่มีโอกาสที่ดีเหมือนเด็กในเมือง การศึกษาของเด็กไร้สัญชาติหรือเด็กกลุ่มเปราะบาง มีความเหลื่อมล้ำสูง ไม่มีโอกาสไปติวหนังสือ กฎหมายไทยไม่ได้คุ้มครองเด็กทุกคน เด็กบนดอย ไม่ได้รับการดูเเล จึงอยากให้รัฐช่วยเเก้ปัญหาเหล่านี้มากกว่าการจัดกิจกรรมวันเด็ก .-สำนักข่าวไทย