รัฐสภา 25 ก.ย.-ปชน. เสียดายสภาฯ ถอนร่างกฎหมายเฆี่ยนตีเด็ก กลับไปทบทวนใหม่ “ณัฐวุฒิ” บอกเหมือนอภิปรายวนกลับไปวาระแรก ทั้งที่ฉลุยรับหลักการมาแล้ว ยันเนื้อหาไม่ขัดหลักการ รับอาจสื่อสารผิดพลาด ถ้อยคำไม่ชัดเจน ขอกลับไปเร่งทำการบ้านมาใหม่ เชื่อไม่ใช่เกมการเมือง มั่นใจดันเข้าสู่การพิจารณาทัน “วันเด็ก” ปีหน้า
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) พร้อมคณะ แถลงกรณีที่ต้องถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเลี้ยงดูบุตรโดยมิชอบ จนเกิดความรุนแรงของผู้ปกครองที่กระทำต่อบุตร อันมาจากภาวะครอบครัวที่สับสนวุ่นวาย หรือมีปัญหาทางสังคม กลับไปทบทวนว่า เหตุผลมาจากการอภิปรายของสมาชิก มีการตั้งคำถามว่าการแก้ไขร่างฯฉบับนี้เป็นไปเพื่อเหตุใด ทำให้เหมือนกลับไปอภิปรายวาระแรกอีกครั้ง ทั้งที่วาระแรกทุกพรรค ลงมติรับหลักการจำนวน401เสียง เห็นด้วยกับการแก้ไขเรื่องสิทธิ์การลงโทษบุตรของผู้ปกครอง จะต้องไม่เปิดช่องให้พิจารณาโดยดุลยพินิจว่าการดำเนินการอย่างสมควรเป็นอย่างไร และต้องไม่เป็นทารุณกรรมที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งในชั้นกมธ.มีการปรับแก้แล้ว ยืนยันว่าเนื้อหาที่พิจารณาในวันนี้ไม่ขัดต่อหลักการ
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีถ้อยคำ กมธ.มีการปรับแก้3ประเด็น 1.เพิ่มเรื่องการทำโทษ ที่แต่เดิมทำเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน เปลี่ยนเป็นการทำเพื่อปรับพฤติกรรม ซึ่งเป็นคำเชิงบวก 2.เปลี่ยนคำว่าทารุณกรรม หรือทำร้าย เป็นคำว่าใช้ความรุนแรง ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก และ3.ปรับคำว่าด้อยค่า เป็นการกระทำโดยมิชอบ ยืนยันว่าเนื้อหาสาระยังเป็นคำที่สอดคล้อง มุ่งเน้นการสนับสนุนพ่อแม่ผู้ปกครอง ในการหาวิธีการที่เหมาะสม ในการทำโทษบุตร ไม่ใช่การที่ถูกกล่าวอ้างว่า ต่อไปนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง จะไม่สามารถลงโทษหรือกระทำใดๆต่อบุตรได้ หรือไม่ใช่ที่ถูกกล่าวอ้างว่าจะนำไปสู่ความแตกแยกในครอบครัวจนถึงขั้นฟ้องร้องดำเนินคดีพ่อแม่ ทั้งหมดไม่มีประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ขณะที่การเฆี่ยนตี กมธ.ไม่ได้ใส่คำเข้าไปใหม่ เป็นคำที่ปรากฎอยู่ในชั้นรับหลักการจากสภาฯวาระแรกอยู่แล้ว คำนี้มีความหมายอยู่ในตัวจึงสะท้อนถึงความรุนแรงในระดับหนึ่ง ซึ่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ประเทศไทยกำลังจะขอมีที่นั่ง ได้ท้วงติงใหเระบุชัดเจนบ่าเป็นข้อห้ามในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้หรือไม่ กมธ.ก็ยืนตามนั้น ดังนั้น เหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา จึงไม่มีเหตุผลที่วันนี้จะพิจารณาในลักษณะเพิกถอนหรือไม่เห็นด้วยในการผ่านวาระ 2-3 พรรคประชาชนตระหนักดีว่าอาจจะยังไม่สามารถสื่อสารได้มากพอ เข้าใจว่าสังคมมีความก้าวหน้า มีความเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ทุกคนมีความห่วงใยปัญหาดี หากมีทางเลือกก็จะไม่ใช่ความรุนแรง จึงเป็นข้อสะท้อนว่าการพิจารณาในสภาฯวันนี้ เสมือนยังมีความไม่เข้าใจจำนวนมาก
“ถือเป็นความผิดพลาดของพวกเรา เราต้องทำการบ้านให้หนักขึ้น เพื่อสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องว่า แม้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นของฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวฉบับเดียว ใน2สมัยประชุมที่ผ่านมา เราก็เสียดายที่ไม่มีกฎหมายของพรรคร่วมรัฐบาลมาประกบ แต่ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ควรพิจารณาบนเนื้อหาสาระ หรือเป้าหมายที่เราประกาศมุ่งเน้นในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก แต่คงต้องยอมรับ สิ่งที่สมาชิกท้วงติงในห้องประชุม จึงต้องถอนร่างออกไปเพื่อพิจารณาทบทวน จากนั้นทาง กมธ.จะมีการนัดประชุมอย่างเร่งด่วนในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อปรับแก้ข้อทบทวนที่ถูกกล่าวอ้าง แล้วจะรีบส่งกลับเข้าสู่สภาฯ”
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในสมัยประชุมอีก1เดือนที่เหลืออยู่ เราขอความร่วมมือไปยังวิปรัฐบาล หากเห็นตรงกันว่ากฎหมายฉบับนี้ มีหลักประกันสำคัญในการคุ้มครองเด็ก ก็ควรถูกพิจารณาในสมัยประชุมนี้ ถ้าไม่ทันในสมัยประชุมนี้ คงต้องตั้งคำถามว่ามีกระบวนการผิดพลาดในสภาฯอย่างไร ถึงทำให้กฎหมายดีๆหลายฉบับต้องพิจารณาล่าช้า
เมื่อถามว่า มองว่าเป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่าการสื่อสารของพรรคประชาชนหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่สามารถตอบแทนคนที่ไม่เห็นด้วยได้ การอภิปรายในสภาฯวันนี้เหมือนเป็นการอภิปรายย้อนกลับไปในวาระแรก แล้วทำไมจะต้องอภิปรายซ้ำในวาระ2 ตนคาดหวังว่าเวลาที่เราพูดถึงเป้าหมายทางการเมืองควรใช้กับเรื่องอื่น คงไม่เกี่ยวกับเรื่องเด็ก หรือครอบครัว ตนยังเชื่อมั่นจากการที่มีการสื่อสารกับพรรคการเมือง เขาอาจติดในเรื่องถ้อยคำที่ยังคลุมเครือจริงๆ เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เสียดายที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายล่าช้าออกไป แต่ยังมั่นใจว่าจะพิจารณาได้ทันก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติในปีหน้า.-312.-สำนักข่าวไทย