กรุงเทพฯ 7 ม.ค. – แม้การสอบแอดมิชชั่นส์ครั้งล่าสุด คณะยอดฮิต 5 อันดับเเรก เป็นคณะเกี่ยวกับด้านสังคมและศึกษาศาสตร์ แต่จากการสอบถามความเห็นเด็กที่เรียนกวดวิชา ส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจเรียนต่อแพทย์และวิศวะเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากมองว่าหางานง่าย
ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่อาคารวรรณสรณ์ เขตราชเทวี ซึ่งมีสถาบันกวดวิชากว่า 20 แห่งเปิดสอน ยังคงมีนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แห่มาเรียนกวดวิชาเป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อในคณะที่ชื่นชอบ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่หางานง่าย และได้ช่วยเหลือคนที่เจ็บป่วย ขณะที่ผู้ปกครองยุคนี้ต่างให้โอกาสบุตรหลานได้ตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาที่สนใจด้วยตัวเอง
ส่วนนักเรียนบางคนมากวดวิชา หวังเรียนต่อในคณะที่เป็นวิชาชีพเฉพาะ เช่น นิติศาสตร์ และสถาปนิก เพราะมองว่าโลกในอนาคต หลายอาชีพ แรงงานจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี เช่น เครื่องจักร และหุ่นยนต์
ขณะที่การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาระบบกลาง (แอดมิชชั่นส์) ครั้งล่าสุด คณะยอดฮิต 5 อันดับเเรกที่มีการสอบเเข่งขันสูงสุด คือ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาปฐมวัย มหาวิทยาลัยทักษิณ อัตราเเข่งขัน 1:60 / คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 1:50 / วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาภาพยนตร์เเละสื่อดิจิตอล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 1:49 / คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 1:43 เเละวิทยาลัยศิลปะสื่อเเละเทคโนโลยี สาขาการจัดการสมัยใหม่เเละเทคโนโลยีสารสนเทศ พื้นฐานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันไทยมีมหาวิทยาลัยกว่า 150 แห่ง หลังปิดตัวไปเกือบ 40 แห่ง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และคาดว่ามีแนวโน้มจะปิดตัวเพิ่มอีกเกือบ 80 แห่ง ในอีก 10 ข้างหน้า หากไม่มีการปรับหลักสูตรและการเรียนการสอนให้ก้าวทันเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดโลก. – สำนักข่าวไทย