กรุงเทพฯ 10 ต.ค.-รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ วิเคราะห์การกระทำผิดของอาชญากร รวมทั้งอาชญากรรมต่อเนื่องที่กระทำกับเหยื่อมากกว่า 3 รายขึ้นไป ว่าสาเหตุมักมาจากปมในใจตั้งแต่เด็ก โดยภายนอกมีพฤติกรรมปกติเหมือนคนทั่วไป ยากที่จะสังเกตได้
อาชญากรรมต่อเนื่อง คือ การฆาตกรรม หรือข่มขืนเหยื่อ ตั้งแต่ 3 รายขึ้นไป เป็นเหตุสะเทือนขวัญที่เริ่มมีให้เห็นบ่อยขึ้นในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เช่น คดี “ติ๊งต่าง” หรือนายหนุ่ย ที่กระทำอนาจารเหยื่อนับ 10 ราย และฆ่าตายมาแล้ว 4 ศพ ตั้งแต่ปี 51 หลังพ้นโทษคดีพรากผู้เยาว์ 3 ปี ได้ก่อเหตุซ้ำอีก ข่มขืนและฆ่าน้องการ์ตูน เด็กหญิงวัย 6 ขวบ เมื่อปลายปี 56 ศาลตัดสินให้ประหารชีวิต แต่เขารับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
คดีข่มขืนผู้สูงอายุวัย 70 ปี เมื่อต้นปี 58 ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม คนร้ายที่ก่อเหตุเป็นคนเดียวกับที่เคยข่มขืนหญิงชรามาแล้ว 9 ราย ในพื้นที่สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม บางรายนอกจากถูกข่มขืนยังถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ผ่านมาแล้วกว่า 7 ปี ก็ยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้
ล่าสุดต้นเดือนตุลาคม เกิดเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องคนเร่ร่อน 3 ศพ ใน อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ทั้งหมดถูกมัดมือไพล่หลังฆ่าปาดคอ ตำรวจจับกุมนายจิมมี่ ชาวพม่า วัย 20 ปี ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ล่าสุดผลพิสูจน์ดีเอ็นเอของผู้ต้องหาตรงกับเหยื่อ 2 รายที่ถูกฆาตกรรมที่ปทุมธานี
รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ลักษณะของอาชญากรต่อเนื่อง มักมีอาชีพที่สามารถเฝ้าสังเกตพฤติกรรมเหยื่อได้ตลอด และมักไม่เลือกเหยื่อที่เป็นคนรู้จัก
“เขาเลือกเหยื่อ หรือเลือกสถานที่ ที่ไม่มีคนสนใจหรือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยมาก เช่น โสเภณี ยาม หรือคนเก็บขยะ ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีใครสนใจ เขาสามารถก่อเหตุต่อเนื่องได้ เพราะไม่มีคนสนใจคนเหล่านี้”
อาชญากรต่อเนื่องส่วนใหญ่มักมีสองบุคลิก ดูเป็นคนปกติที่ไม่ได้มีอาการ “โรคจิต” อย่างที่สังคมเข้าใจ แต่สาเหตุที่ทำให้พวกเขาลงมือกระทำความผิดก็เพราะมี “ปม” อยู่ในใจที่ฝังลึกมาตั้งแต่เด็ก และต้องระบายออกเพื่อแก้แค้น
“ในขณะที่อยู่โดยทั่วไป เขาสามรถพูดคุยเป็นปกติ แต่ขณะเดียวกันเขาก็มีสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใจอีกด้านของเขา พร้อมกระทำผิดได้ถ้ามีโอกาส หรือมีแรงกระตุ้น เขาลอยนวลอยู่ได้ เพราะเขามีชีวิตได้ปกติ โดยที่ไม่มีใครสงสัย”
รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยบอกอีกว่า อาชญากรรมต่อเนื่องเป็นคดีที่ติดตามคนร้ายได้ยากกว่าคดีทั่วไป เพราะส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัวที่ไม่คาดคิดว่าจะก่อเหตุ อีกทั้งยังรู้ช่องทางการหลบหนีเป็นอย่างดี เพราะคอยเฝ้าสังเกตมาก่อน หลายฝ่ายมีการเสนอให้มีการศึกษาคดีเหล่านี้เป็นกรณีตัวอย่าง โดยเฉพาะการวิเคราะห์พฤติกรรม ที่มีประโยชน์อย่างมากต่องานสืบสวน และการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งสามารถครอบคลุมได้หลายกรณีมากกว่าอาชญากรรมต่อเนื่องอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย