กรมชลประทาน 11 ต.ค.- กรมชลประทาน รายงานปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีแนวโน้มทรงตัวและลดลงแล้ว หลังฝนตกทางตอนบนน้อยลง แต่ยังคงระบายน้ำออกจากเขื่อน โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน
นายณรงค์ ลีนานนท์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ส่วนพายุไต้ฝุ่น “ซงด่า” ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางเหนือ โดยไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย คาดว่าในช่วงวันที่ 10-13 ตุลาคมนี้ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ยังคงมีฝนตกชุก กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีปริมาณฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 ตุลาคม บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำในบริเวณ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำสะแกกรัง เริ่มลดลงเหลือ 2,232 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และ 161 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ตามลำดับ ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลงจากระดับสูงสุด +16.70 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) เหลือ +16.60 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) และยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร กรมชลประทานจะลดระดับน้ำหน้าเขื่อนลงให้คงเหลือระดับ +15.50 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อไว้รองรับสถานการณ์น้ำตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกเพิ่มอีกในช่วงวันที่ 14-15 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงตามลำดับ หากมีฝนตกไม่มากนัก
ส่วนสภาพน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 902 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 94 ของความจุอ่างฯ (ความจุเก็บกัก 960 ล้านลูกบาศก์เมตร) มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน 57.53 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูงสุด 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2559 ระบายน้ำในอัตรา 60.54 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทานจะคงการระบายน้ำไว้ในเกณฑ์นี้อีกประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้มีพื้นที่ว่างพอที่จะเก็บกักน้ำจากปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกหนักลงมาอีกในช่วงวันที่ 14-15 ตุลาคม โดยจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา กรมชลประทานได้วางแผนเก็บกักน้ำให้เต็มเขื่อนในช่วงสิ้นตุลาคมนี้
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก จะไหลมารวมกันที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ จ.ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ในอัตรา 2,172 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะไม่มีผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ เนื่องจากความสามารถในการรับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตอนล่าง อยู่ที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที.-สำนักข่าวไทย