กทม. 30 ก.ย.-กอนช. แถลงสถานการณ์น้ำล่าสุด ชี้พบสัญญาณดี หลังปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ จ.นครสวรรค์ และปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักฯ มีอัตราลดลง มุ่งเร่งระบายน้ำแข่งกับอุปสรรคน้ำทะเลหนุนสูงและฝนตกอีกรอบ ตั้งเป้าคลี่คลายภายใน 20 วัน
วันนี้ (30 ก.ย. 64) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แถลงถึงประเด็นสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำท่วมล่าสุด ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ว่า จากการติดตามข้อมูลสถานการณ์พายุจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุที่ขนาบอยู่ทั้งสองฝั่งของประเทศไทยในปัจจุบัน จะไม่ส่งผลกระทบในระยะนี้ แต่จะยังคงมีอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเกิดฝนตก ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยระยะประมาณ 10 วันต่อจากนี้ เป็นช่วงที่จะมีฝนตกในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นช่วงที่จะมีการเร่งระบายน้ำโดยเร็ว โดยจะเร่งระบายในวันนี้ ถึง 1 ต.ค.64 และเว้นระยะในวันที่ 2-3 ต.ค.64 ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำทะเลหนุนสูง ก่อนจะเร่งระบายอย่างต่อเนื่องอีกครั้งในระหว่างวันที่ 4-8 ต.ค.64 ก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกชุกในวันที่ 9-12 ต.ค.64
สำหรับประเด็นข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับมวลน้ำที่จะไหลเข้าสู่กรุงเทพมหานคร กอนช. ได้มีการติดตาม วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้สถานการณ์น้ำที่สถานีวัดระดับน้ำ N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับสถานการณ์บริเวณแม่น้ำปิง ที่สถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเขื่อนภูมิพล ที่ปริมาณน้ำไหลผ่านมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้มวลน้ำที่จะไหลรวมกันลงสู่พื้นที่ตอนล่างน้อยลงตามลำดับ โดยจากการติดตามสถานการณ์ ณ สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ พบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและกำลังลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ มวลน้ำจาก จ.นครสวรรค์ จะไหลลงมารวมกับแม่น้ำสะแกกรัง โดยวานนี้ (29 ก.ย.64) แม่น้ำสะแกกรัง มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 412 ลบ.ม./วิ แต่วันนี้ลดลงเหลือ 393 ลบ.ม./วิ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ของทุกสถานีวัดน้ำดังกล่าวส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างสอดคล้องกัน ซึ่งบ่งบอกว่าปริมาณของน้ำที่จะไหลมารวมตัวกันที่บริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลง ส่วนทางด้านสถานการณ์บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นในอัตราไม่มากนัก โดยจากวานนี้มีอัตราไหลผ่านที่ 2,749 ลบ.ม./วิ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 2,775 ลบ.ม./วิ และจะยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท จะขึ้นสู่จุดสูงสุดประมาณช่วงเย็นวันนี้หรือเช้าวันพรุ่งนี้
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า โดยปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการรักษาให้ระดับน้ำทรงตัว คือการดึงน้ำออกไปทางฝั่งตะวันตก ผ่านคลองมะขามเฒ่าอู่ทอง และแม่น้ำท่าจีน ไปยัง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งช่วยตัดยอดน้ำออกไปได้ในปริมาณมาก โดยวานนี้ มีการผันน้ำเข้าทางฝั่งตะวันตก 254 ลบ.ม./วิ และเพิ่มขึ้นในวันนี้ที่อัตรา 303 ลบ.ม./วิ ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติงาน โดยทีม กอนช. ซึ่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อบินสำรวจทุ่งรับน้ำ และพบว่าพื้นที่ลุ่มต่ำในบริเวณฝั่งตะวันตกยังคงมีช่องว่างมากเพียงพอสำหรับรองรับน้ำได้ อย่างไรตาม การผันน้ำอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในระหว่างการเพาะปลูกและยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ซึ่งวานนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เร่งตรวจสอบและดูแลทั้งชุมชนและพื้นที่การเกษตรในช่วงก่อนมวลน้ำไหลจะเข้าไปในพื้นที่ในส่วนของฝั่งตะวันออก วานนี้น้ำได้ไหลเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งได้กลับมาเพิ่มการระบายอีกครั้งหลังจากก่อนหน้าที่ลดการระบายลง เนื่องจากพบว่า บริเวณ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ยังคงมีช่องว่างสำหรับรองรับน้ำได้เพียงพอ โดยน้ำจากการระบายจะไหลผ่าน จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง ก่อนจะเข้าสู่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดย จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราที่เพิ่มขึ้นในระยะ 3-4 วัน ข้างหน้านี้ และสถานการณ์จะทรงตัวเช่นนี้อีกประมาณ 7 วัน
“สำหรับสถานการณ์ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้มีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้น โดยมีการระบายในอัตรา 1,200 ลบ.ม./วิ เนื่องจากจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้ระดับน้ำไหลผ่านสันทางระบายน้ำล้น (Spillway) อย่างไรก็ตาม กอนช. ได้ประสานกับทางกรมชลประทาน ในการลดอัตราการระบายลงตั้งแต่วันนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการทยอยระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักออกไปก่อนในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อัตราน้ำที่ไหลเข้ามีปริมาณลดลงแล้ว โดยขณะนี้เหลือมวลน้ำอีกราว 400 ล้าน ลบ.ม. ที่จะไหลเข้ามาในเขื่อนเพิ่มเติม โดยระดับน้ำบริเวณท้ายเขื่อนป่าสักฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ และภายหลังน้ำในเขื่อนป่าสักฯ ลดลงแล้ว ระดับน้ำแม่น้ำป่าสักก็จะลดลงตามลำดับภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเร่งระบายน้ำออกทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อรักษาระดับน้ำที่จะปล่อยผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในระดับคงที่และไม่สูงมากจนเกินไปนัก โดยจะเร่งรัดการระบายน้ำให้คลี่คลายภายใน 20 วัน พร้อมกันนี้ กอนช. ได้มีการประกาศเฝ้าระวังและดูแลในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ปริมาณน้ำจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ได้ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือได้กว่า 1,800 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 1,200 ล้าน ลบ.ม. และในภาคกลาง กว่า 700 ล้าน ลบ.ม.-สำนักข่าวไทย