จ.ตรัง -กยท.เดินหน้าพัฒนาคุณภาพยางแผ่นรมควัน ยกตามมาตรฐาน GMP นำร่อง 5 สหกรณ์ ฯ ที่ จ.ตรัง
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า เพื่อให้คุณภาพยางแผ่นรมควันที่ผลิตในประเทศไทยได้มาตรฐานสากล หรือเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก กยท.จึงเร่งเดินหน้ายกมาตรฐานและคุณภาพในการผลิตยางแผ่นรมควันให้ได้ตามมาตรฐาน GMP หรือ มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 5906-2556 เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตยางแผ่นรมควัน (GOOD MANUFACTURING PRACTICES FOR RIBBED SMOKED SHEET) โดยนำร่องที่สหกรณ์กองทุนสวนยางในพื้นที่ จังหวัดตรัง
ล่าสุด กยท. ได้ให้การตรวจรับรองมาตรฐาน GMP โรงงานยางแผ่นรมควันและผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 5 สหกรณ์ จากจำนวน 30 สหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจในการแปรรูปยางแผ่นรมควัน ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางโพธิ์โทน จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางวังคีรี จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางคลองปาง จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองศรีจันทร์ จำกัด
ส่วนภาพรวมทั่วประเทศ กยท.มีสหกรณ์กองทุนสวนยาง ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการยกระดับการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน GMP รวม 176 แห่ง คาดว่า จะใช้เวลายกมาตรฐานการผลิตยางแผ่นรมควันในส่วนที่เหลืออีกกว่า 170 สหกรณ์ ให้ได้ตามมาตรฐาน GMP อีกไม่เกิน 1 ปีนับจากนี้ไป
สำหรับโรงงานที่ได้รับการรับรอง GMP จาก กยท. เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จะได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องผลิตยางที่มีคุณภาพดี สามารถต่อรองราคาสินค้าในราคาที่สูงขึ้นได้ ซึ่งทาง กยท. จะเข้าไปตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกษตรกรรักษาคุณภาพยางให้ได้ตามมาตรฐานพรีเมี่ยมที่กำหนดไว้
นอกจากนี้กยท.ยังมีการขยายตลาดยางพาราระดับภูมิภาคRegional Rubber Market : RRMให้แก่สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ในตลาดนี้จะมีสินค้าประเภทยางแท่งมาตรฐาน (Standard Thai Rubber 20 – STR 20) และยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 มาตรฐานกรีนบุ๊ค (Ribbed Smoked Sheet 3 – RSS 3) โดยความร่วมมือของ 3 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วยประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศมีข้อกำหนดระเบียบวิธีการซื้อขายรวมทั้งมาตรฐานร่วมกัน โดย กยท. มีแนวทางสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการยางพาราประชารัฐ นำยางที่ผ่านมาตรฐาน GMP มาขายในตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาคได้ ถือเป็นการช่วยหาตลาดรองรับผลผลิตยางให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงถึงความมั่นใจในตลาดระดับอาเซียนอีกด้วย
นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. กล่าวว่า จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดแรกที่สถาบันเกษตรกรสามารถก้าวสู่มาตรฐาน GMP โดย 5 สหกรณ์เหล่านี้ มีศักยภาพในการผลิตยางแผ่นรมควันชนิด Premium grade ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 99 ของปริมาณการผลิตในภาพรวมทั้งหมด และสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาประกาศสำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา 3-7 บาท/กิโลกรัม โดย กยท. มุ่งหวังให้ยางที่ผลิตได้มีคุณภาพสูง มีคุณสมบัติทางกายภาพของยางที่คงที่ มีความสม่ำเสมอ เน้นการนำยางที่มีคุณภาพเหล่านี้ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเพิ่มมูลค่าหรืองานทางวิศวกรรม เช่น ยางรองคอสะพาน ยางล้อเครื่องบิน ยางล้อรถยนต์ ยางปูพื้นสนามกีฬา รองเท้าแตะ รองเท้ากีฬา เป็นต้น-สำนักข่าวไทย