กทม. 21 ธ.ค.-ในรอบสองสามปีมานี้มีนิตยสารหลายฉบับปิดตัวลง โดยหลายเล่มเป็นฉบับเก่าแก่ แต่นิตยสารกุลสตรียังคงยืนหยัดอยู่ได้ น่าศึกษาว่ามีการปรับตัวอย่างไรท่ามกลางพฤติกรรมผู้อ่านที่เปลี่ยนไป ขณะที่นิตยสารบางฉบับที่ปิดตัวลงไปแล้ว ส่วนหนึ่งยังคงมีเนื้อหาอยู่บนเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ เช่น สกุลไทย และขวัญเรือน
นวนิยายจากปลายปากกานักเขียนชื่อดัง และคอลัมน์สร้างสรรค์งานฝีมือดีไอวาย เช่นฉบับนี้ที่สอนการตัดชุดผู้หญิง เป็นสองคอลัมน์ที่ต้องมีตีพิมพ์ประจำในนิตยสารกุลสตรี จากฉบับแรกเมื่อปี 2513 ถึงฉบับปัจจุบัน รวมอายุยาวนานกว่า 47 ปีแล้ว และแทบจะถือเป็นนิตยสารฉบับเก่าแก่ท้ายๆ ที่ยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ได้ปิดตัวเองไปเช่นนิตยสารชื่อดังหลายเล่ม
ผู้บริหารนิตยสารกุลสตรียอมรับว่าแม้มีแฟนประจำ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงวัยทำงาน แต่ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากเล่มอื่นๆ การอยู่ให้รอดใช้วิธีปรับเปลี่ยนเนื้อหาคอลัมน์ให้ทันสมัย แต่ก็ยังคงมีเอกลักษณ์มีนวนิยายเรื่องยาว 6 เรื่องต่อฉบับ หาเซเลบขึ้นปกให้โดนใจ และปรับรูปลักษณ์และสาระให้เข้ากับสื่อออนไลน์ด้วย ทั้งลงในเว็บไซต์ kullastreemag.com และโซเชียลมีเดีย โดยปีที่ผ่านมายอดสั่งซื้อนิตยสารผ่านทางออนไลน์เติบโตขึ้นมาก
ระยะหลังกุลสตรีซึ่งจำหน่ายรายเดือนมียอดพิมพ์เป็นแสนเล่ม ผู้บริหารเชื่อว่าธุรกิจยังคงไปได้ เพราะการอ่านในกระดาษมีคุณค่าในตัวเอง ยังมีลูกค้า แต่ต้องปรับตัวอย่างมากและสร้างความโดดเด่นในทุกฉบับ
นิตยสารในไทยเคยมีมากกว่า 200 หัวบนแผงหนังสือ แต่ทยอยปิดตัวไปกว่าครึ่ง ในรอบสองสามปีมานี้การปรับตัวให้อยู่รอดมีทั้งเปลี่ยนจากรายปักษ์เป็นรายเดือน ลดปริมาณหน้ากระดาษลง เพื่อลดต้นทุนและหันไปทำอี-แม็กกาซีน นำเสนอเนื้อหาทางออนไลน์
ตุลาคม 59 นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์วางแผงเป็นฉบับสุดท้าย ผู้อ่านที่คิดถึงสกุลไทยเข้าไปติดตามได้ในอินเทอร์เน็ต ในเว็บไซต์สกุลไทยออนไลน์ดอทคอม ซึ่งพบว่ามีนวนิยายจากนักเขียนออนไลน์ มีคอลัมน์หลากหลาย และมีบริการขายหนังสือออนไลน์ด้วย
ส่วนนิตยสารที่เพิ่งประกาศปิดตัวลงในเดือนนี้ อย่างขวัญเรือน หลังอยู่มานาน 49 ปี เว็บไซต์ขวัญเรือนดอทคอม และโซเชียลมีเดียยังมีการนำเสนอเนื้อหาและคอลัมภ์ต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่าน
ปัจจุบันเกิดเว็บไซต์อ่านหนังสือออนไลน์มากมาย และยังเป็นสนามของนักเขียนหน้าใหม่ หลายเรื่องมียอดผู้อ่านหลักแสนถึงหลักล้านครั้ง มีช่องทางการขายโฆษณา ควบคู่ไปกับเว็บไซต์ นิตยสารบางส่วนปรับตัวให้อยู่รอดจากหนังสือสู่สื่อออนไลน์ ขณะที่นักเขียนนวนิยายซึ่งเคยมีแฟนประจำและมีรายได้เฟื่องฟูในอดีตก็ต้องปรับการทำงานและช่องทางการเสนองานเขียนซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง.-สำนักข่าวไทย