กรุงเทพ 23 พ.ย.-กระทรวงพาณิชย์ เตรียมสร้างและพัฒนารูปแบบอีคอมเมิร์ซระดับชาติหรือ National ecommerce platform พร้อมผลักดันให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเป็นแหล่งพัฒนาผู้ประกอบการต่อไป
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเปิดตัวแนะนำหลักสูตรการยกระดับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี อาลีบาบา คอร์ส ในประทศไทยครั้งแรกของวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา ซึ่งรวมกับมหาวิทยาลัยเถาเป่า และ ลาซาด้า ประเทศไทย ที่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ เป็นกิจกรรมในรูปแบบบรรยายพิเศษที่ถนนรัชดาภิเษก โดยเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถร่วมรับฟังได้ หลักสูตรนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในด้านอีคอมเมิร์ซ
นางอภิรดี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องการดึงผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือไมโครเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าสู่ระบบการค้าอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนให้บรรเทาลงได้ ประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดเล็กคิดเป็นร้อยละ 99.70 ของภาคธุรกิจทั่วประเทศและมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP สูงถึงร้อยละ 42.2 กระทรวงพาณิชย์ยังเดินหน้าพัฒนารูปแบบอีคอมเมิร์ซระดับชาติหรือ National e-commerce platform เพื่อรองรับการพัฒนาของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ขณะเดียวกันต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อเข้าสู่ระบบ Digital Economy ปัจจุบันมีธุรกิจบางกลุ่มพร้อมที่จะพัฒนาสู่การเป็นผู้ส่งออกสินค้าได้ ในขณะที่บางกลุ่มกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจที่จะต้องได้รับการพัฒนาและเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดสงขลาในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเชิญตัวแทนของลาซาด้า ประเทศไทย ซึ่งพร้อมที่จะลงไปให้ความรู้เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือ Young Generation ในพื้นที่ด้วย พร้อมสอบถามความต้องการของกลุ่มนี้ว่า ต้องการในการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่อีคอมเมิร์ซอย่างไรบ้าง จากนั้นกระทรวงพาณิชย์จะนำรูปแบบนี้ ขยายไปใช้กับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป เริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่ จะใช้พื้นที่ของสำนักงานส่งเสริมการค้าเป็น New Start Up Complex เพื่อเป็นพื้นที่พัฒนาอีคอมเมิร์ซ ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กต่อไป
นางอภิรดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ ยังเชิญลาซาด้าประเทศไทย ให้พิจารณาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในส่วนของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Conceptual Framework of Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi)” ซึ่งขณะนี้ลาซาด้าอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการเข้าไปลงทุนซึ่งหากตัดสินใจ รูปแบบโครงการลงทุนแล้ว การลงทุนที่เกิดขึ้นจะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยให้เข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมร์ซ สำหรับรูปแบบโครงการลงทุน เมื่อลาซาด้าตัดสินใจได้แล้วจะนำเสนอโครงการลงทุนต่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ต่อไป
นายฮิวโก้ อัน ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเถาเป่า กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการไทยจดทะเบียนเข้าขายสินค้าภายใต้อาลีบาบาแล้วประมาณ 100,000 ราย คาดว่าอัตราการเติบโตของการเข้าจดทะเบียนในระบบอาลีบาบาจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงต่อไป แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุจำนวนที่จะเพิ่มขึ้นได้อย่างชัดเจน สำหรับความร่วมมือระหว่างอาลีบาบากับกระทรวงพาณิชย์ในการขายข้าวหอมมะลิไทยนั้นปรากฏว่าได้รับความนิยมในประเทศจีนเป็นอย่างมาก
นายอเลสซานโดร พิสซินี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์แล้วยังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงมหาดไทยในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และยังร่วมมือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเอ็มอีไทย ซึ่งภายใต้โครงการนี้ที่ดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำการฝึกสอนและแนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้วถึง 3,000 ราย พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกว่า 1,700 รายนำสินค้ามากกว่า 40,000 รายการ มาเสนอขายผ่านทางลาซาด้าด้วย-สำนักข่าวไทย