อุบลราชธานี 16 พ.ย.- ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศลงพื้นที่อุบลราชธานีตรวจวัตถุโลหะตกจากท้องฟ้ากลางดึกเสียงดังสนั่นชายแดนไทย-ลาว สันนิษฐานเป็นชิ้นส่วนจรวดใช้ส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจร พร้อมนำบางส่วนไปตรวจวิเคราะห์เพิ่ม
กรณีชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เห็นลำแสงพุ่งเป็นทางยาว ก่อนเกิดเสียงดังกลางอากาศได้ยินเป็นบริเวณกว้างเมื่อกลางดึกวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา และรุ่งเช้าชาวบ้านพบเศษโลหะกระจาย 4 หมู่บ้าน จึงเก็บรวบรวมมาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โขงเจียม เพื่อประสานผู้เชี่ยวชาญมาตรวจพิสูจน์
ล่าสุดนายบุญชุบ บุ้งทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ ได้เข้าตรวจสอบชิ้นส่วนดังกล่าว และวันนี้ (16 พ.ย.) พบเพิ่มอีก 4 ชิ้น รวมทั้งหมด 12 ชิ้น โดย 4 ชิ้นนี้มีขนาดใหญ่และยาวกว่าที่พบวานนี้ ชิ้นยาวที่สุดประมาณ 6 เมตร และในชิ้นขนาดใหญ่พบเลขรหัส
นายบุญชุบ สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนของจรวดใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในชั้นอวกาศ โดยเป็นส่วนของตัวจรวดและถังบรรจุเชื้อเพลิง ส่วนหัวที่เป็นดาวเทียมถูกส่งขึ้นไปในชั้นอวกาศแล้ว สำหรับการตกของจรวดลูกนี้ คาดว่ายังไม่ออกไปนอกโลก แต่อยู่ในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร เมื่อตัวจรวดตกกลับลงมาด้วยความเร็ว จะเกิดแรงเสียดทานกับอากาศ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ และเกิดเสียงจากแรงกระแทกในรูปแบบของโซนิกบูม เสียงดังที่ได้ยิน จึงไม่ใช่เกิดจากการระเบิด แต่เกิดจากแรงกระแทกของวัตถุกับอากาศ ก่อนแตกกระจายออกเป็นชิ้น ๆ
นายบุญชุบ กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อสงสัยสิ่งที่บรรจุกับตัวจรวดจะมีกัมมันตรังสีหรือไม่ เชื่อว่าไม่มี เพราะเชื้อเพลิงของจรวดที่เป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนเหลว ยังระบุไม่ได้เป็นจรวดใช้ส่งยานอวกาศของชาติใด ต้องตรวจสอบไปยังองค์การสหประชาชาติที่จะมีบันทึกรายละเอียดของการส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรของชาติต่าง ๆ ขณะนี้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยก็ได้ประสานขอทราบรายละเอียดถึงทิศทางและวันเวลาที่มีการนำจรวดขึ้นสู่วงโคจรไปแล้ว คาดว่าอีก 1 สัปดาห์จะทราบว่าจรวดที่ตกลงมานี้เป็นของประเทศใด แต่เบื้องต้นการตกลงมาของชิ้นส่วนจรวดนี้ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับบ้านเรือนหรือประชาชน แต่ถ้าก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ประเทศที่เป็นเจ้าของจรวดดังกล่าวต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ
นายบุญชุบ ยังให้คำแนะนำประชาชนว่า ถ้าพบวัตถุสิ่งแปลกปลอมตกลงมาจากชั้นบรรยากาศของโลก ไม่ควรเก็บไว้เอง ควรนำส่งเจ้าหน้าที่ใช้ตรวจหาแหล่งที่มาของวัตถุนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเส้นทางของจรวดแต่ละลูกด้วย โดยจะนำตัวอย่างส่วนหนึ่งไปตรวจวิเคราะห์ อีกส่วนหนึ่งให้ สภ.โขงเจียม เก็บรักษา เพื่อรอส่งมอบคืนให้กับประเทศที่เป็นเจ้าของ.-สำนักข่าวไทย