เวียดนาม 11 พ.ย.- นายกรัฐมนตรี ชี้ไทยประสบความสำเร็จในเวทีเอเปก ยันไม่มีหารือเรื่องประโยชน์นอกรอบ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 25 ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ว่าการประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเนื่องจากได้มีส่วนร่วมในการกล่าวถ้อยแถลงทุกวาระ ในนามของประเทศไทย และสมาชิกอาเซียน หนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ ปฏิญญาโบกอร์ว่าด้วยเจตนารมณ์ร่วมของเอเปก ที่ตั้งเป้าให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคภายในปี พ.ศ. 2553 สำหรับสมาชิกที่พัฒนาแล้ว และพ.ศ. 2563 สำหรับสมาชิกกำลังพัฒนาที่เหลือ ซึ่งเอเปกมีเวลาอีกเพียง 3 ปีที่จะต้องช่วยกันดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย
ในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยและประเทศสมาชิกมีความห่วงใยร่วมกันว่าอาจจะมีกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีมากขึ้น เพราะบางประเทศอาจไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ทำในวันนี้จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงได้อย่างไร ซึ่งตนได้พูดในที่ประชุมไปแล้วว่าต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับคนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายว่ามีความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ และอนาคตอย่างไร อย่างไรก็ตาม มองว่าการตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP เป็นสิ่งที่ท้าทายที่จะต้องทำให้สำเร็จ เพราะมีคนบางส่วนไม่เข้าใจมองว่าเป็นการค้าแบบผูกขาด
ส่วนการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเอเปกกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุมและมีนวัตกรรม และการส่งเสริมความเป็นสากลของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ตนได้ชี้แจงถึงนโยบายแนวทางและมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือ ด้วยตั้งงบประมาณไว้ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการด้วย และจำเป็นต้องให้ความรู้ในระบบการศึกษาของประเทศไทยด้วยเพื่อเตรียมพร้อมเยาวชนคนรุ่นใหม่รองรับการขยายตลาดในอนาคต
ส่วนการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกกับผู้นำอาเซียน ตนได้ชี้แจงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการเตรียมการอย่างไรบ้างในเรื่องของความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล เช่น การขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย การสร้างเคเบิลใต้น้ำ 25,000 กม. เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการหารือถึงการเตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงวัยด้วย รวมถึงการผลักดันโครงการเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งได้ร่วมกับประเทศเปรูในการจัดทำยุทธศาสตร์ว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยจะมีผลบังคับใช้ในปีนี้
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการประชุมผู้นำเอเปก ว่า ในช่วงที่ 1 ให้ความสำคัญในการเตรียมพร้อมบุคลากร พัฒนาทุนมนุษย์ รองรับโครงสร้างดิจิตอล ซึ่งไทยได้ชี้แจงว่าปัจจุบันเราได้พัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะอาชีวะทั้งชายและหญิงให้สามารถคิดแก้ปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงวิจัยและพัฒนา ซึ่งต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในทุกระดับให้สอดคล้อง รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่อยากให้กังวลเรื่องการจัดเก็บภาษี เพราะหากรายได้ไม่มากพอก็จะได้รับการยกเว้น หากเพียงพอก็จะถูกจัดเก็บเพียงส่วนน้อย แต่สิ่งที่จะได้รับคือการเข้าถึงระบบทุน กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ ได้
ส่วนการประชุมในช่วงที่ 2 พูดถึงการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งไทยก็ได้แสดงจุดยืนในการสนับสนุนเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer พร้อมน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยให้สำนักงานอิเล็กทรอนิกส์เริ่มรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ให้มาอยู่ในที่เดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวกับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ให้ปรับใช้เทคโนโลยีและเพิ่มมูลค่าในการแข่งขันจนสามารถไปสู่เวทีโลก แต่จะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภูมิภาคและทุกภาคส่วนเพื่อให้สมาชิกเอเปกเติบโตไปพร้อมกัน
นายกฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ทุกประเทศให้เกียรติตน เช่น นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รวมถึงนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และผู้นำประเทศอื่นๆ อีก 20 ประเทศ ซึ่งทุกคนให้เกียรติทักทายพูดคุยด้วยบรรยากาศที่มีมิตรไมตรีและอบอุ่น
“ไม่มีเขา ไม่มีเรา พูดคุยกันได้ในทุกประเด็น บางประเด็นก็พูดกันในห้องประชุม บางประเด็นก็พูดนอกห้องประชุมแต่รับรองว่าไม่มีการตกลงกันในเรื่องผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ขออย่าไปเชื่อฟังคำบิดเบือนต่างๆ ในส่วนของประธานาธิบดีจีน ก็สนิทกันอยู่แล้วเพราะเป็นเอเชียด้วยกัน ในส่วนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เพิ่งเจอกันที่สหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นโอกาสดีที่การได้พบกันครั้งนี้ทำให้สนิทกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งท่านก็รับฟังในสิ่งที่ผมพูด ผมก็ฟังท่านพูด ถ้อยทีถ้อยอาศัย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไม่ใช่ผมจะไปตกลงซื้อของขายของเป็นการส่วนตัวเพราะทำไม่ได้เป็นเรื่องของกลไกข้าราชการที่จะต้องทำต่อไปว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ขายหรือไม่ขาย เพราะต้องแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งไทยก็ได้ดุลการค้าจากหลายประเทศ แต่เมื่อพิจารณาแล้วบางครั้งมันก็ไม่พอเพราะมูลค่าสิ่งของที่ขายออกไป เช่น พืชผลทางการเกษตรค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องซื้อ เช่น เทคโนโลยี มีมูลค่าต่างกันมาก เช่น ซื้อโทรศัพท์ 1 เครื่อง จะต้องขายข้าวไปเท่าไหร่ ต้องไปดูเหตุดูผลตรงนี้และสร้างความเข้าใจกับประเทศในทุกประชาคม ไทยต้องให้ความสำคัญกับเกษตรกรและการเกษตรเพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ดังนั้น จะต้องพัฒนาไปสู่ประเทศเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ มีเม็ดเงินไปซื้อสิ่งของที่มีมูลค่าสูง ซึ่งต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยสามารถอยู่ได้ในยุคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ Thailand 4.0 หรือการปฏิรูปทางเศรษฐกิจครั้งที่ 4” นายกรัฐมนตรี กล่าว
หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือทวิภาคีกับนายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เพื่อผลักดันกลไกความร่วมมือ การประชุม ครม.ร่วมไทย-เวียดนาม แก้ปัญหาอุปสรรคการค้า และร่วมกันแก้ปัญหา IUU แรงงานผิดกฏหมาย รวมถึงการเชื่อมโยงการคมนาคม
วันพรุ่งนี้นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปที่ท่าอากาศยานนานาชาติดานังเพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 13-14 พ.ย. 2560.- สำนักข่าวไทย