กทม.4 พ.ย.-กทม.เผยยอดกระทงทั่วกรุงเทพฯ ปีนี้ รวม 811,945 ใบ ส่วนใหญ่เป็นกระทงวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้ ส่งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่โรงงานขยะหนองแขม ส่วนกระทงโฟม นำไปทำลายโดยการฝังกลบ รอการย่อยสลายต่อไป
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ได้ร่วมกันจัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยเพื่อขอขมาพระแม่คงคาในเทศกาลลอยกระทงเมื่อคืนที่ผ่านมา (3 พ.ย.) โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการจัดงานลอยกระทงในหลายจุด เช่น กทม.จัดที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)จัดที่สวนสันติชัยปราการ และกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดที่วัดราชาธิวาส นอกจากนี้ยังมีการเปิดพื้นที่ให้ลอยกระทงบริเวณริมแม่น้ำ คูคลอง บึงน้ำ สวนสาธารณะของกทม.และพื้นที่เอกชนอีกหลายแห่ง
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า กทม.ได้ระดมเจ้าหน้าที่เริ่มดำเนินการเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลองต่างๆและสวนสาธารณะทั้ง 30 แห่ง ที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทงทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นับและคัดแยกกระทงเสร็จสิ้นในเวลา 05.00 น.ของวันที่ 4 พ.ย.รวมจัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 811,945 ใบ กระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ จำนวน 760,019 ใบ คิดเป็นร้อยละ 93.6 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 51,926 ใบ คิดเป็นร้อยละ 6.4
สำหรับปี 2560 จัดเก็บกระทงได้เพิ่มขึ้นกว่าปี 2559 จำนวน 150,010 ใบ หรือคิดเป็นร้อยละ 22.7 โดยเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ และวัสดุที่ย่อยสลายร้อยละ 93.6 ส่วนปี 2559 มีปริมาณกระทงจากวัสดุธรรมชาติร้อยละ 93.3 โดยพื้นที่เขตที่มีปริมาณกระทงมากที่สุด คือเขตลาดกระบัง เขตคลองเตย และเขตบางเขน ส่วนเขตที่มีปริมาณกระทงได้น้อยที่สุด คือเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวแม้ปีนี้จำนวนกระทงที่จัดเก็บได้จะเพิ่มกว่าปีที่แล้ว แต่ร้อยละของกระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติก็ไม่ลดลง แสดงว่าประชาชนและผู้ค้ายังให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กทม.ได้ดำเนินการคัดแยกตั้งแต่ต้นทางและนับจำนวนเพื่อเก็บสถิติ จากนั้นจะนำกระทงจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่าย ส่งไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่โรงงานขยะหนองแขม ส่วนกระทงโฟมและวัสดุที่ย่อยสลายยากจะถูกนำไปทำลายโดยการฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลายต่อไป .-สำนักข่าวไทย