สำนักการระบายน้ำ 28 ต.ค. – สำนักการระบายน้ำ กทม.แจงสื่อ สยบประเด็นความกังวลต่อสถานการณ์น้ำในโซเชียลมีเดีย
นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้นายณรงค์ เรืองศรี รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ชี้แจงประเด็นความกังวลต่อสถานการณ์น้ำ เนื่องจากโซเชียลมีเดียจำนวนมากแสดงความคิดเห็นในเชิงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ โดยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดสถานการณ์น้ำท่วมเหมือนเมื่อปี 2554 อีกทั้งแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลสรุปสถานการณ์น้ำที่ชัดเจน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ว่าน้ำท่วมหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมตัวขนย้ายสิ่งของได้ทันสถานการณ์นั้น โดยประเมินสถานการณ์แล้ว กทม.ยังสามารถรับมือน้ำในปัจจุบันได้
สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ จาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันของ 3 น้ำ ณ วันที่ 25 ต.ค. 60 เป็นดังนี้
1.ข้อมูลจากกรมชลประทาน แจ้งปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,702 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
2.ระดับน้ำทะเลหนุน โดยเมื่อ 25 ต.ค.60 น้ำทะเลหนุนสูงสุดเมื่อเวลา 09.52 น. ระดับน้ำอยู่ที่ 1.08 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดอยู่ที่ระดับ 1.96 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร ประมาณ 0.84 เมตร ทั้งนี้ ระดับแนวคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร มีระดับ 2.80-3.50 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
3.สถานการณ์ฝน ปัจจุบันปริมาณฝนรวมในกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 2,167.6 มิลลิเมตร จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่านับจากวันที่ 25 ต.ค. 60 ปริมาณฝนจะเริ่มลดลงและเข้าสู่ฤดูหนาวต่อไป จากการประเมินสถานการณ์ทั้ง 3 น้ำ จึงสรุปได้ว่ากรุงเทพมหานครยังสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้
ส่วนสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำนั้น กรุงเทพมหานครได้เตรียมการและวางแผนบริหารจัดการน้ำ สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ได้แก่
–ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวรวม 77 กิโลเมตร สามารถป้องกันน้ำไหลบ่าจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมในพื้นที่ได้ถึงระดับ 3.00 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือรองรับน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที แต่หากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมาก ชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ จะได้รับผลกระทบจำนวน 18 ชุมชน ในพื้นที่ 10 เขต รวม 430 หลังคาเรือน ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เตรียมการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ไว้แล้ว เช่น วางกระสอบทรายในแนวฟันหลอ การสร้างสะพานไม้เป็นทางเดินเข้าออกชุมชน และแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง เป็นต้น
–การป้องกันน้ำท่วมด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ได้ก่อสร้างคันกั้นน้ำพระราชดำริ เพื่อป้องกันน้ำไหลจากพื้นที่ด้านตะวันออกเข้าท่วมพื้นที่ชั้นใน ความยาว 72 กิโลเมตร สามารถป้องกันน้ำไหลบ่าจากพื้นที่ด้านนอกได้ที่ระดับความสูง 2.50 – 3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
–การระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครผ่านคลองสายหลัก สำหรับน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนนทบุรีบางส่วนจะไหลเข้าสู่คลองมหาสวัสดิ์และระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีน ส่วนน้ำที่ระบายผ่านพื้นที่ของกรุงเทพฯ จะระบายผ่านคลองทวีวัฒนา คลองซอย คลองขุนศรีฯ และคลองควาย และน้ำบางส่วนจะระบายผ่านคลองบางกอกน้อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา น้ำส่วนที่เหลือจะระบายลงสู่แก้มลิงคลองสนามชัย – มหาชัย ซึ่งอยู่ทางตอนล่างของพื้นที่และจะระบายสู่ทะเลต่อไป
ส่วนมาตรการหากเกิดน้ำทะเลหนุนริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือ เร่งตรวจสอบความแข็งแรงจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และเรียงกระสอบทรายในบริเวณที่แนวป้องกันน้ำท่วมมีระดับต่ำ ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และส่งเจ้าหน้าที่ตรวจตราจุดที่คาดว่าจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าท่วมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบความพร้อมของเครื่องสูบน้ำให้พร้อมทำงานตลอดเวลา รวมถึงดำเนินการขุดลอกคลอง เตรียมความพร้อมสถานีสูบน้ำ เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มประสิทธิภาพในพื้นที่จุดเฝ้าระวังมากขึ้น เตรียมความพร้อมหน่วยสนับสนุนช่วยเหลือประชาชน และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมในป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตลอดเวลาด้วย
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินกรณีน้ำหลากเข้ามาในพื้นที่ เช่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วม ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำ และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำ แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนามผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio แจ้งเตือนสำนักงานเขตผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย “อัมรินทร์” แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงและจุดสำคัญเพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ปัญหาด้านการการจราจร ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางที่น้ำท่วม ทหารช่วยเหลือประชาชน หากมีระดับน้ำท่วมสูง หากเกิดเหตุน้ำท่วมในพื้นที่จะจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์.- สำนักข่าวไทย