พังงา 6 พ.ค. – อธิบดีกรมอุทยานฯ เผยประสานกรม ทช. ร่วมค้นหาฉลามวาฬมีซากอวนติดหาง บริเวณกองหินริเชลิว วางแผนและกำหนดทีมช่วยเหลือ 3 ทีม ย้ำปฏิบัติการอย่างแม่นยำ คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดทั้งของเจ้าหน้าที่และตัวสัตว์
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายเกรียงไกร เพาะเจริญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ว่า ผู้ประกอบการเรือดำน้ำลึก (เรือ Liveaboard) ชื่อ “ดีพ อันดามัน ควีน” แจ้งเหตุพบฉลามวาฬตัวเต็มวัย ความยาวประมาณ 6-7 เมตร มีเครื่องมือประมง คาดว่าเป็นเศษเชือกเก่าหรืออวนเก่า พันติดอยู่บริเวณส่วนหาง ขณะดำน้ำชมทัศนียภาพใต้ท้องทะเลบริเวณกองหินริเชลิว
ต่อมานายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้หน่วยงานทางทะเล ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประสานหน่วยงานและผู้ประกอบการเพื่อติดตามและช่วยเหลือฉลามวาฬโดยเร็วที่สุด
วานนี้ (5 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดำน้ำ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณกองหินริเชลิว ด้วยการดำน้ำลึก (Scuba Diving) เพื่อติดตามหาฉลามวาฬ แต่เนื่องจากสภาพน้ำทะเลขุ่น ทัศนวิสัยต่ำ มองเห็นได้เพียง 5-10 เมตร จึงยังไม่พบตัวฉลามวาฬ จากการสอบถามผู้ควบคุมนักดำน้ำลึกประจำเรือ Liveaboard ที่อยู่ในเหตุการณ์ ทราบว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม นักดำน้ำพบฉลามวาฬดังกล่าว 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและช่วงบ่าย แม้อยู่ในระยะไกล ส่วนวันนี้ยังไม่มีรายงานการพบเห็นเพิ่มเติม
อุทยานฯ ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังเรือดำน้ำลึกทุกลำที่ปฏิบัติการในบริเวณดังกล่าว หากพบฉลามวาฬให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที พร้อมขอความร่วมมือผู้ควบคุมนักดำน้ำให้แจ้งนักดำน้ำทุกคน เว้นระยะห่างและไม่เข้าใกล้สัตว์มากเกินไป เพื่อความปลอดภัยของทั้งนักดำน้ำและฉลามวาฬ
นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้ประสานทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ และศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 (ภูเก็ต) ร่วมกันวางแผนช่วยเหลือ
แผนการช่วยเหลือแบ่งออกเป็น 3 ทีม ประกอบด้วย ทีมปลดเชือก ซึ่งจะใช้ความระมัดระวังในการตัดเศษเชือกหรืออวนและนำกลับขึ้นฝั่ง, ทีมควบคุมทิศทางสัตว์ และทีมเฝ้าระวังผู้ปฏิบัติงาน โดยเน้นย้ำถึงความปลอดภัยสูงสุดทั้งต่อเจ้าหน้าที่และสัตว์ทะเลที่ได้รับความช่วยเหลือ
เจ้าหน้าที่จะยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีที่พบฉลามวาฬตัวดังกล่าว เนื่องจากเศษอวนหรือเชือกที่พันอยู่อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวและการดำรงชีวิตของฉลามวาฬ หากประชาชนหรือผู้พบเห็นสามารถแจ้งสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งหน่วยงานกรมอุทยานฯ ใกล้เคียง. -512-สำนักข่าวไทย