ตราด 13 ม.ค. – “พลบค่ำโชว์” พาไปชมความสวยงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเล จ.ตราด เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวตื่นตาตื่นใจ “ฉลามวาฬยักษ์” ว่ายขึ้นมาอวดโฉม ณ จุดดำน้ำเรือหลวงช้าง เป็นภาพที่สวยงามและหาชมได้ยาก
นี่เป็นภาพของฉลามวาฬยักษ์ ยาวประมาณ 4 เมตร ที่ออกมาอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวและนักดำน้ำได้ชมแบบใกล้ชิด ณ บริเวณจุดดำน้ำเรือหลวงช้าง ระหว่างแนวหินราบ-หินลูกบาศก์ ด้านหลังของเกาะช้าง จ.ตราด เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นภาพที่สวยงาม มองเห็นฉลามวาฬตัวใหญ่ มีเหาฉลามว่ายอยู่ข้างๆ หลายตัว และยังมีฝูงปลาน้อยใหญ่ว่ายเคียงกันใต้ท้องทะเลสีฟ้าใส สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้พบเห็นอย่างมาก
นายกมล กัปตันเรือนำเที่ยวของบริษัท บีบี ไดเวอร์ส เกาะช้าง เล่าว่า ขณะแล่นเรือพานักท่องเที่ยว 27 คนไปดำน้ำ และกำลังจะเข้าจอดเรือบริเวณจุดดำน้ำเรือหลวงช้าง พบฉลามวาฬยักษ์ตัวนี้ว่ายขึ้นมาผิวน้ำบริเวณข้างลำเรือ ตนและนักท่องเที่ยวต่างดีใจ หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาบันทึกภาพไว้ โดยนักท่องเที่ยวที่ลงไปดำน้ำที่จุดนี้ ยังได้ใกล้ชิดกับเจ้าฉลามวาฬยักษ์ เพราะหลังจากมาอวดโฉมให้เห็น ก็ยังวนเวียนว่ายน้ำอยู่ใกล้ๆ กับกลุ่มนักดำน้ำ นานร่วม 20 นาที ทำให้หลายคนสามารถบันทึกภาพและว่ายน้ำเล่นกับฉลามวาฬตัวนี้กันอย่างสนุกสนาน นับว่าเป็นความโชคดีมากๆ เพราะตามปกติแล้ว ฉลามวาฬไม่ได้ปรากฏตัวให้เห็นบ่อยนัก หรือเพียงปีละ 3-4 ครั้ง
ฉลามวาฬ เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โตเต็มที่มีขนาดความยาวประมาณ 12.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 21-42 ตัน อาหารหลักของฉลามวาฬ คือ แพลงก์ตอน ปกติอาศัยอยู่ในน้ำลึก และจะขึ้นมากินแพลงก์ตอนบริเวณผิวน้ำในเวลากลางคืน ออกลูกเป็นตัว อาจมากถึง 300 ตัว มีช่วงอายุประมาณ 70-80 ปี ลักษณะของฉลามวาฬที่แตกต่างจากฉลามส่วนใหญ่ คือ หัวที่ใหญ่โตมาก เมื่อเทียบกับขนาดลำตัว และปากอยู่ด้านหน้า แทนที่จะอยู่ด้านล่าง หายใจด้วยเหงือก หางของฉลามวาฬอยู่ในแนวตั้งฉาก และโบกไปมาในแนวซ้าย-ขวา แตกต่างจากสัตว์เลือดอุ่นในทะเล เช่น วาฬ โลมา พะยูน ที่หางอยู่ในแนวขนาน และหายใจด้วยปอด
สำหรับจุดดำน้ำเรือหลวงช้าง ถือเป็นแหล่งดำน้ำระดับโลก เป็นซากเรือใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ถูกวางเป็นแนวปะการังเทียมในท้องทะเล ถูกปลดประจำการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2548 หลังจากปฏิบัติงานมากว่า 61 ปี ด้วยสภาพเรือที่ทรุดโทรม ยากแก่การซ่อมแซมให้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และคุ้มค่า จึงถูกนำมาวางใต้ท้องทะเล ณ เกาะช้าง จ.ตราด ภายใต้โครงการ “เรือหลวงช้างรักษ์ทะเลตราด เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชินี ในวันที่ 12 สิงหาคม 2555” เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำบริเวณเกาะช้าง (นับอายุเรือจนถึงวันนี้ประมาณ 80 ปี)
จุดวางเรือหลวงช้าง คือ บริเวณกลางทะเลด้านหลังเกาะคุ้ม หรือ แนวหินราบ-หินลูกบาศก์ ห่างจากเกาะช้างประมาณ 8 ไมล์ทะเล ตัวเสากระโดงเรืออยู่ลึกจากผิวน้ำ 5 เมตร ตัวเรือวางอยู่ก้นทะเล ที่ระยะประมาณ 35 เมตร (จนถึงวันนี้ถูกวางไว้ใต้ทะเลเข้าสู่ปีที่ 13) กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำลึก (Scuba diving) ที่สำคัญของเกาะช้าง และเป็นประโยชน์ในการเป็นบ้านปลา
นอกจากนี้ เกาะช้างยังมีแหล่งดำน้ำอีกหลายแห่ง มีเกาะมากถึง 52 เกาะ อาทิ เกาะเทียน เกาะนก เกาะยักษ์ เกาะรัง แต่ละปีการท่องเที่ยวดำน้ำสร้างรายได้เข้าพื้นที่ ปีละกว่า 150 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย