กรุงเทพฯ 12 ต.ค. – ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการจัดทำเครื่องสังเค็ด เพื่อถวายแด่พระภิกษุและวัด 41 ชุด อีกทั้งยังมีการฟื้นฟูภูมิปัญญาการทำสมุดข่อยปาฏิโมกข์แบบโบราณขึ้นมาใหม่
สมุดข่อยปาฏิโมกข์ หนึ่งในเครื่องสังเค็ด ที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ศิลปาชีพอ่างทอง ใช้เวลาร่วม 8 เดือนในการจัดทำขึ้น วันนี้เสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งมอบให้กรมศิลปากร เพื่อเป็นของชำร่วยถวายแด่พระภิกษุ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
การจัดสร้างครั้งนี้ ถือเป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาการทำสมุดข่อยแบบโบราณขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 9 โดยยึดต้นแบบการเขียนสมุดข่อยของวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งปรากฏครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 6
สมุดข่อยยาว 31.5 เซนติเมตร หนา 37 พับ ภายในจารึกพระธรรมวินัยของพระภิกษุ ปกหน้าและปกหลังเป็นลายรดน้ำ ตรงกลางมีลายอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. มุมสมุดเป็นลายเถาก้านขดออกเป็นหน้าครุฑ
ผ้าห่อคัมภีร์ เป็นแบบผ้าโบราณสมัยอยุธยา ลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ประดับตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ และพิมพ์ข้อความงานพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9
ส่วนนี่คือหีบพระปาฏิโมกข์ ซึ่งจะบรรจุสมุดข่อยปาฏิโมกข์ไว้ภายใน ออกแบบโดยช่างกลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ ถอดแบบลายเส้นมาจากหีบพระปาฏิโมกข์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ตัวหีบและต่างทำจากไม้สัก แกะสลักลวดลายตามแบบโบราณ เช่น กระจัง บัวคว่ำ และขาสิงห์ อย่างต่างเป็นลายบัวหงาย สื่อความหมายเสมือนหีบปาฏิโมกข์วางอยู่บนดอกบัว ประดับตกแต่งด้วยสีขาวงาช้าง และลงรักปิดทอง
เครื่องสังเค็ดปรากฏหลักฐานเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่โบราณ มีขึ้นเพื่อถวายแด่พระภิกษุและวัด ในงานออกพระเมรุของเจ้านายชั้นสูง งานพระราชพิธีครั้งนี้ สำนักพระราชวังมอบหมายให้กรมศิลปากรจัดทำของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ดทั้งหมด 41 ชุด สำหรับพระภิกษุ 40 วัด และ 1 ชุด สำหรับเก็บในพิพิธภัณฑ์ เช่น พัดรอง ผ้ากราบ ย่าม ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ ตู้สังเค็ด และหีบปาฏิโมกข์ ซึ่งทุกชิ้นล้วนออกแบบให้สื่อความหมายถึงรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9. – สำนักข่าวไทย