กรุงวอชิงตัน ดีซี 2 ต.ค.-นายกรัฐมนตรีพอใจผลการเยือนสหรัฐฯ หลังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมเดินหน้าสานต่อความร่วมมือทุกมิติบนพื้นฐานความเป็นมิตรประเทศที่ยาวนานที่สุดในเอเชีย ยืนยันกับผู้นำสหรัฐฯ ปีหน้าจะประกาศวันเลือกตั้ง
“บุษยา อุ้ยเจริญ” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ที่ติดตามภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 5 ตุลาคม 2560 รายงานว่า นายกรัฐมนตรี และนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เดินทางถึงทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เวลา 12.20 น. ของวันที่ 2 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนางเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยา รอให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
จากนั้น เวลา 12.40 น. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำนายกรัฐมนตรีเข้าห้องทำงานรูปไข่ เพื่อร่วมหารือสองต่อสอง โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที
นายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ลาสเวกัส และพายุเฮอร์ริเคน และเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำพาของประธานาธิบดีทรัมป์ จะทำให้การคลี่คลายปัญหาเป็นไปด้วยดีและรวดเร็ว และว่า การพบกันวันนี้ หารือกันในหลายประเด็น ทั้งด้านความมั่นคง ภัยคุกคาม และประเด็นที่มีความสำคัญในภูมิภาค รวมถึง การค้าการลงทุน การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน
“ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ยาวนานเกือบ 200 ปี และอย่างเป็นทางการ 184 ปี จึงเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำพาของประธานาธิบดีทรัมป์ จะสานต่อความสัมพันธ์นี้ไปอย่างต่อเนื่อง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรียังชื่นชมสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุน เพราะไทยให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ด้อยโอกาส
ด้าน ประธานาธิบดีทรัมป์ แสดงความยินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ พร้อมพูดถึงความพร้อมในการขยายความร่วมมือทางด้านการค้าระหว่างกัน เพราะเห็นว่าไทยมีศักยภาพด้านทรัพยากรต่าง ๆ และวัตถุดิบ รวมทั้ง ได้พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และว่า จะไปเยี่ยมผู้ประสบเหตุพายุเฮอร์ริเคนในวันที่ 3 ตุลาคม และจะเดินทางไปลาสเวกัสในวันที่ 4 ตุลาคม
จากนั้น เวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริการ่วมหารือกับนายกรัฐมนตรี แบบเต็มคณะ ในรูปแบบการหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน หรือ working Lunch โดยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารเข้าร่วม อาทิ นายสมคิด จาตุศรรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศหน้าทำเนียบขาว มีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หลังเกิดเหตุกราดยิงในลาสเวกัส เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีการตรวจตรา และใช้สุนัขดมกลิ่นอุปกรณ์เครื่องมือของสื่อก่อนที่จะเข้าไปไปภายในทำเนียบขาวด้วย
ต่อมา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงการเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ว่า เป็นการเยือนของผู้นำประเทศไทยในรอบ 12 ปี ซึ่งรู้สึกประทับใจในการต้อนรับของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นไปอย่างอบอุ่น ผู้นำสหรัฐฯ ได้แสดงความเสียใจต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของโลก และครองราชย์มายาวนานถึง 70 ปี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการหารือกันแบบสองต่อสอง ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายคาดหวังว่า จะมีความร่วมมือกันให้มากขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคงภายในประเทศและในภูมิภาค การค้า การลงทุน การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน
“ในระหว่างการหารือ ไม่ได้ถูกกดดันใด ๆ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้เกียรติกับผมและประเทศไทย จึงถือโอกาสนี้เชิญผู้นำสหรัฐฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อมีโอกาส” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนการหารือแบบเต็มคณะระหว่างไทยกับสหรัฐฯ นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้พูดคุยกันในรายละเอียดถึงการเสริมสร้างความมั่นคงภายในและในภูมิภาค ทั้งการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึง ภัยในโลกไซเบอร์ ว่าจะร่วมมือกันอย่างไร โดยเฉพาะความร่วมมือกันด้านข่าวกรอง และการดูแลความปลอดภัยตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือในทุกประเด็น รวมทั้ง ข้อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ในด้านความมั่นคงด้วย ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้ขัดข้อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ยังได้มีการพูดคุยกันถึงการค้าและการลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ขณะเดียวกัน ฝากผู้นำสหรัฐฯ ดูแลนักลงทุนไทยกว่า 20 บริษัทที่มาลงทุนในสหรัฐฯ และสิ่งที่ได้เน้นย้ำในการพูดคุยคือ ความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร เพื่อหามาตรการในการเพิ่มราคาให้มากขึ้น ถือเป็นการดูแลเกษตรของไทย
ต่อกรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องการตกลงซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เพราะการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพในระยะ 5-10 ปี ซึ่งต้องมาพิจารณาว่า จะจัดซื้อยุทโธปกรณ์ใดจากสหรัฐฯ ได้บ้าง รวมทั้งต้องดูในเรื่องงบประมาณ ขณะเดียวกัน ได้ขอให้สหรัฐฯ ดูแลเรื่องคุณภาพที่สูง ในราคาที่จำกัด
ส่วนสถานการณ์เกาหลีเหนือนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ยืนยันกับผู้นำสหรัฐฯ ว่า จะดำเนินการทุกอย่างตามพันธกรณี รวมถึง ยืนยันความพยายามที่จะดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อยในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา โดยสนับสนุนให้แก้ปัญหาภายในให้ได้โดยเร็วและได้มีการประสานกับผู้นำเมียนมาไปแล้ว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือว่าผลสรุปการเยือนเป็นที่น่าพอใจ และต้องขอบคุณที่ให้เกียรติกับเรา ซึ่งเราเป็นมิตรมายาวนาน ในขณะที่เรามีปัญหามีข้อจำกัดมากมาย แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ให้เกียรติผม เรามองปัญหาเดียวกัน คือ จะทำอย่างไร เพื่อให้คนที่ไม่เข้าถึงโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้พูดถึงความร่วมมือการค้าระหว่างกัน
“ ในการพบปะหารือกันในครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้สอบถามถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย แต่ผมได้เล่าให้ฟังถึงการเดินหน้าประเทศไทย ว่าเป็นไปตามหลักสากล โดยจะเดินตามโรดแมปที่ประกาศไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง และในปีหน้า จะประกาศวันเลือกตั้งอย่างแน่นอน” นายกรัฐมนตรี กล่าว .- สำนักข่าวไทย