30 ม.ค. – สตง.แนะกรณีแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องยึดหลักร่วมลงทุนรัฐและเอกชน หลังการส่งมอบพื้นที่บางส่วนล่าช้ากว่าแผน 2 ปี 8 เดือน พร้อมกันนี้ สตง.ยังตรวจสอบแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง
นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี PPP) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี แบบไร้รอยต่อรวมถึงพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่มักกะสันและศรีาราชา มีมูลค่าการลงทุน 224,544.36 ล้านบาท โดยรัฐร่วมลงทุนไม่เกิน 149,650 ล้านบาท จาการตรวจสอบพบว่า การดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด โดยเฉพาะการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา (นอกเมือง)และพื้นที่มักกะสันรวมทั้งศรีราชา ล่าช้ากว่าแผน 2 ปี 8 เดือนซึ่งปัญหาที่พบในพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา (นอกเมือง) คือ ปัญหาการเวนคืนที่ดินที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายรื้อถอนได้สำเร็จ ปัญหาการปรับเปลี่ยนแผนแม่บททำให้ตำแหน่งสถานีและแนวเส้นทางเปลี่ยนแปลง ส่วนพื้นที่มักกะสัน มีปัญหาลำรางสาธารณะประโยชน์เป็นอุปสรรคในการพัฒนาพื้นที่ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนเช่าพื้นที่ได้โดย รฟท.อยู่ระหว่างพิจารณาจัดหาพื้นที่ทดแทน ปัญหาบึงเสือดำซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำและกักเก็บน้ำฝนตามมติ ครม.
นอกจากนี้การขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนยังไม่แล้วเสร็จ เช่น เอกชนคู่สัญญายังไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนได้ รฟท.และเอกชนคู่สัญญาตกลงปรับแผนการจ่ายเงินร่วมลงทุน 149,650 ล้านบาท ให้รัฐจ่ายเร็วขึ้นจากเดิมกำหนดชำระเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเดินรถ รวมทั้งให้เอกชนคู่สัญญาแบ่งจ่ายค่าให้สิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด จากเดิมชำระครั้งเดียวภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ซึ่งผลกระทบดังกล่าวทำให้ประชาชนเสียโอกาสการใช้บริการรถไฟความเร็วสูง รฟท.เสียโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนคู่สัญญาเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะต้องชดเชยความเสียหายจากการดำเนินโครงการที่ไม่เป็นไปตามแผน การแก้ไขสัญญาอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะกระทบต่อหลักการร่วมลงทุน ทั้งนี้ สตง.มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงหลักการจ่ายเงินร่วมลงทุนให้เอกชนคู่สัญญาเร็วขึ้นต้องยึดหลักความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน จัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม รักษาความคุ้มค่าและวินัยการเงินการคลังของรัฐ ส่วนการเปลี่ยนแปลงการชำระค่าให้สิทธิแอร์พอร์ต เรลลิงก์จากเดิมชำระครั้งเดียวเป็นแบ่งชำระ 7 งวดนั้นควรพิจารณาให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิของเงินที่ชำระทั้ง 7 งวดเทียบเท่าหรือสูงกว่าเดิมเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ สำหรับการแก้ไขสัญญาต้องคงหลักการความเป็นธรรมระหว่างรัฐและเอกชน
นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวถึงการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ด้วยว่า มีพื้นที่เสี่ยงประกอบไปด้วยพื้นที่กลุ่มภาคเหนือตอนบน พื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงพื้นที่ภาคการเกษตร โดยจากการวิเคราะห์ของ สตง.พบว่า มาตรการส่วนใหญ่ทำขึ้นเพื่อตอบสนองเหตุการณ์เฉพาะหน้า บางมาตรการมีความล่าช้ายังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม กิจกรรมที่ทำขาดความต่อเนื่อง กลไกลของงบประมาณยังไม่สามารถทำให้เกิดกิจกรรมแบบบูรณาการ การแก้ปัญหายังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ สตง.ได้กำหนดแผนการตรวจสอบประจำปีงบประมาณ 2568 ของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และจะรายงานความคืบหน้าผลการตรวจสอบต่อไป. -513-สำนักข่าวไทย