นครราชสีมา 12 ม.ค.-กรมป่าไม้ ยังคงเฝ้าระวังการปะทุของไฟที่ป่าสงวนแห่งชาติ “เขาลอย” หลังจากเย็นวานนี้ระดมดับไฟทั้งทางอากาศและภาคพื้นได้ทุกจุด จนท.พบปลอกกระสุนปืนบริเวณที่เกิดไฟไหม้ รวมทั้งกับดักสัตว์ป่า คาดเผาเพื่อต้อนสัตว์ป่าสำหรับล่า
นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า เย็นวานนี้สามารถดับไฟป่าที่ไหม้ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหินหรือที่เรียกว่า เขาลอย ท้องที่ ตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาได้หมดทุกจุด โดยระดมดับทั้งทางอากาศและภาคพื้น ตลอดทั้งคืน ไม่พบไฟไหม้เพิ่มเติม เช้านี้โดรนบรรทุกน้ำของสมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ขึ้นบินเพื่อทิ้งน้ำให้แน่ใจว่า ไฟที่ไหม้ขอนไม้ดับสนิท พร้อมกันนี้จัดชุดเจ้าหน้าที่เหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ เสือไฟ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุพืช ทหาร พัน ร. มทบ.21 ค่ายสุรนารี เฝ้าระวังต่อเนื่องไปอีกจนมั่นใจว่า ไม่ประทุขึ้นอีก พร้อมทั้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์ ชาวบ้านให้ทราบและไม่จุดไฟเผาป่า
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า พบปลอกกระสุนปืน ขนาด 0.22 มม. จำนวนหนึ่ง รวมทั้งพบกับดักสัตว์ป่า อยู่บริเวณที่เกิดเหตุจึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นการเผาเพื่อต้อนสัตว์ป่าสำหรับล่า
สำหรับเหตุการณ์ไฟป่าบริเวณ “เขาลอย” เริ่มต้น วันที่ 3 มกราคม 2568 โดยมีรายงานเกิดเหตุไฟป่าในพื้นที่ด้านหลังวัดอุดมสุข ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่านครราชสีมา (กรมป่าไม้) ส่งกำลังเข้าไปควบคุมจนสามารถดับได้แล้วเสร็จในช่วงมืดของวันดังกล่าว มีพื้นที่เสียหายประมาณ 200 ไร่
ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2568 ได้รับแจ้งเกิดเหตุไฟป่าอีกครั้ง ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่านครราชสีมา (กรมป่าไม้) จึงเข้าตรวจสอบ พบไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน เจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงได้แค่เพียงบางส่วนเนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่มีความลาดชันและมีหินลอย การเดินขึ้นไปดับไฟ เสี่ยงที่จะไถลตกจากเขา ประกอบกับลมแรง ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบากและต้องถอนกองกำลังลงในเวลาพลบค่ำ โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังไฟตลอดทั้งคืน เพื่อป้องกันไฟลุกลามเข้าพื้นที่บ้านเรือนของราษฎร
จากนั้นในวันที่ 7 มกราคม 2568 ไฟได้ไหม้ลุกลามไปจนถึงบริเวณหน้าผาหินซึ่งสูงชัน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ จึงได้ทำแนวสกัดกั้น เพื่อตัดเชื้อเพลิงให้น้อยที่สุด ส่วนพื้นที่ด้านล่างติดกับพื้นที่ราษฎร ได้รับกำลังสนับสนุนจากป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ เฝ้าระวังไม่ให้ลุกลามเข้าพื้นที่ชุมชน กรมอุทยานฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสนธิกำลังจากสถานีควบคุมไฟป่าเขาใหญ่และเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพิ่มเติม โดยมีพื้นที่เสียหายไปแล้วกว่า 1,000 ไร่
จนกระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2568 ไฟยังคงปะทุขึ้นในพื้นบริเวณยอดเขาและหน้าผาหินชันเนื่องจากยังมีเชื้อเพลิงสะสมในพื้นที่จำนวนมาก และไฟยังไม่ดับสนิท ประกอบมีลมแรงตลอดทั้งวัน ทำให้ยากต่อการควบคุมไฟป่า จึงได้มีการตั้งกองอำนวยการเฉพาะกิจซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานปฏิบัติงานร่วมกันในพื้นที่เกิดเหตุ โดยมีพลโทบุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 และผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 2 เข้าประชุมร่วมกับ นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าจังหวัดนครราชสีมา โดยหารือถึงแนวทางคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมสั่งการให้ทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันหากเกินกำลังของทางส่วนราชการแล้ว จะจัดกำลังมาสมทบเพื่อดับไฟป่าให้สนิทและเร็วที่สุด เฮลิคอปเตอร์จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เข้ามาโปรยน้ำลงในพื้นที่หน้าผาและยอดเขาที่เจ้าหน้าที่เดินเข้าไปไม่ถึงเพื่อลดความร้อนและชะลอการลุกลามของไฟลงได้ระดับหนึ่ง ตั้งแต่เวลา 15.30 -18.30 น. พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเกิดเหตุตลอดทั้งคืนซึ่งกินพื้นที่เสียหายไปกว่า 1,500 ไร่เศษ
วานนี้ (11 มกราคม 2568) เฮลิคอปเตอร์เข้าพื้นที่โปรยน้ำลดความร้อน ร่วมกับเจ้าหน้าที่เดินเข้าพื้นที่ดับไฟเพื่อจำกัดบริเวณพื้นที่เผาไหม้ โดยยังคงมีอุปสรรคจากสภาพภูมิประเทศและลมที่แรงตลอดทั้งวัน แต่ในที่สุดก็สามารถดับไฟได้ทุกจุด.-512.-สำนักข่าวไทย