สำนักงาน กกพ. 25 ธ.ค. – สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมภาคีเครือข่าย บุกสำนักงาน กกพ. เรียกร้องให้ยุติการทำสัญญา และยกเลิกประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในโครงการไฟฟ้าหมุนเวียนเฟส 2 ชี้ทำค่าไฟแพงเกินเหตุ และตลอดอายุสัญญา 25 ปี ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟสูงถึง 6.5 หมื่นล้านบาท
สภาองค์กรของผู้บริโภค สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นัดรวมตัวที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณียื่นหนังสืออุทธรณ์ ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเรื่องประกาศรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed -in Tariff (FiT) ปี 2565 -2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 ที่เคยยื่นไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้ใช้วิธีการแข่งขันด้านราคาแต่มีการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าและห้ามไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราราคาที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ปี 2565 คือ 2.17 บาท/หน่อย สำหรับไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์และราคา 3.10 บาทต่อหน่วย สำหรับไฟฟ้าจากพลังงานลม ซึ่งระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี จึงเห็นว่าเป็นอัตราที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มลดลง
นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ตั้งแต่ยื่นหนังสืออุทธรณ์ประกาศ กกพ. ในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (รอบเพิ่มเติม) เมื่อเดือนตุลาคม พร้อมขอให้ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากสำนักงาน กกพ. แต่ขณะเดียวกันกลางเดือนที่ผ่านมา สำนักงาน กกพ.กลับประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed -in Tariff (FiT) ปี 2565 -2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 จำนวน 72 ราย รวม 2,145 .4 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นพลังงานลม จำนวน 8 ราย รวม 565.40 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ตั้งแต่ปี 2571-2573 และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 64 ราย รวม 1,580 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ตั้งแต่ปี 2569-2573 และมีกำหนดลงนามในในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ ซึ่งมองว่าเป็นการดำเนินการที่รีบร้อนมากเกินไป เอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
“วิธีการดังกล่าว เมื่อคำนวนแล้ว จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจากโครงการนี้แพงกว่าที่ควรจะเป็น โดยตลอดอายุสัญญา 25 ปี และหากสมมุติว่ามีการขายไฟฟ้าจริงในปี 2568 จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจากโครงการนี้สูงถึง 65,504 ล้านบาท ทั้งๆ ที่นับวันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนา ดังนั้นพลังงานจากแสงอาทิตย์จะมีต้นทุนต่ำลงทุกปี เช่นในประเทศเพื่อนบ้านหรือในอินเดียขณะนี้คิดค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่บาทกว่ากว่าตอนหน่วยไม่มีใครถึง 2 บาท ขณะที่ประเทศไทยกลับราคาไม่ต่ำกว่า 2 บาท จึงเรียกร้องขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. สั่งการให้ยุติการทำสัญญาในวันที่ 30 ธ.ค และอยากฝากว่า กรุณาอย่าทำนา บนหลังคาค่าไฟแพง ที่เป็นภาระของประชาชน” นางสาวรสนา กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีการทบทวนหรือระงับโครงการดังกล่าว เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ทางเครือข่ายก็ต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมายต่อไป เพราะทั่วโลกขณะนี้ราคาพลังงานหมุนเวียนลดต่ำลงมาก จึงมีคำถามว่าเป็นการดำเนินการโดยทุจริตหรือไม่ และผู้ที่ถูกคัดเลือกเป็นใครมีผลประโยชน์.-517-สำนักข่าวไทย