กรุงเทพฯ 19 ธ.ค.-“มาริษ” รมว.ต่างประเทศ เผยเมียนมายืนยันจะปล่อย 4 ลูกเรือประมงกลับไทย เร็วๆ นี้ ด้านโฆษก กต. ยันใช้กลไก JBC แก้ปัญหาว้าแเดงตั้งฐานในไทย ปัดโยงจับลูกเรือประมง
นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่าในห้วงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้าน 6 ประเทศ (สปป ลาว จีน อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา และไทย) ได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับ
พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย รัฐมนตรีต่างประเทศ ของเมียนมา
นายมาริษ เปิดเผยว่า ได้หารือถึงความร่วมมือครอบคลุมในหลายเรื่องโดยเฉพาะประเด็นที่ลูกเรือประมงชาวไทย 4 คนยังคงถูกรัฐบาลเมียนมาควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทางการเมียนมา ว่าลูกเรือประมงชาวไทยทั้ง 4 คน จะได้รับการปล่อยตัวกลับไทยในเร็วๆ นี้ และเป็นที่ทราบกันดีว่าในแต่ละประเทศมีขั้นตอนภายในที่ต้องดำเนินการ เช่นเดียวกับไทย แต่ก็ได้รับการยืนยันแล้ว ดังนั้นขอให้รับทราบ แต่ต้องให้เกียรติและให้สิทธิ์กับทุกประเทศ ที่เขาก็มีระบบของเขา เราก็มีระบบของเรา ขณะเดียวกันยังเห็นพ้องว่าไทยและเมียนมาจะร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและป้องกันไม่ให้มีปัญหาเช่นนี้อีกในอนาคต
นายมาริษ กล่าวว่า ตนเองยังได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย เรื่องทางเชื่อม 3 ฝ่ายระหว่างไทย อินเดีย และเมียนมา ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในเมียนมา เห็นพ้องว่าจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดใช้เส้นทางดังกล่าวได้โดยเร็ว เนื่องจากมีความสำคัญต่อประชาชนทั้ง 3 ประเทศ และเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเอเชียใต้
ด้านนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีกองทัพกลุ่มว้าแดงจะเคลื่อนฐานทัพออกจากพื้นที่ชายแดนไทยว่า ในเรื่องนี้จะมีการกลับไปใช้กลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยคงจะมีการหารือทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันจะกลับไปใช้กลไกชายแดน ผ่านคณะกรรมการเขตแดนร่วม หรือ JBC พร้อมปฏิเสธว่ากรณีกลไกชายแดน ไม่เกี่ยวกับเรื่องการช่วยเหลือลูกเรือประมง เป็นคนละกรณีกัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้รับการยืนยันจากการเมียนมาว่าจะมีการปล่อยตัวโดยเร็ว ซึ่งไทยก็เคารพในกระบวนการภายในของเมียนมา แต่ประเด็นสำคัญในการพูดคุยกันคือมองไปในอนาคต เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นการประสานงานอย่างใกล้ชิดผ่านกลไกที่เคยมีอยู่ในเรื่องน่านน้ำ ก็จะทำให้มีการบังคับใช้ ทำให้เกิดความแน่นแฟ้น ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก.-312.-สำนักข่าวไทย