ตลาดหลักทรัพย์ฯ 19 ธ.ค. – “กิตติรัตน์” ออกสื่อครั้งแรกหลังถูกเสนอชื่อนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ พร้อมเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมการเงิน-การคลัง มุ่งมั่น ซื่อตรง โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ย้ำไม่มีอำนาจแทรกแซงการทำงานแบงก์ชาติ พร้อมเสนอ FETCO ประสาน 5 หน่วยงาน ขจัดการด้อยประสิทธิภาพ หนุนจีดีพี
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 9 กล่าวในงาน “เสวนา 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับความท้าทายในยุคสมัย” ถึงการถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่าเรื่องนี้ทราบจากสื่อเช่นกัน ขณะนี้ตนอยู่ในฐานะผู้ยอมรับการถูกเสนอชื่อ และยอมรับการถูกตรวจสอบคุณสมบัติ ดังนั้นขั้นตอนการพิจารณาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเสนอรายชื่อต่อที่ประชุม ครม. หรือไม่ หรือเมื่อใด ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของตน หากได้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ก็ต้องทำให้ดี มีธรรมาภิบาล มุ่งมั่น ซื่อตรง โปร่งใส ใส่ใจอธิบายในสิ่งที่ควรจะต้องทำ โดยต้องสอดคล้องกับความคาดหวังอันเป็นธรรมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งหมายถึงผู้บริหารของ ธปท. ในปัจจุบันและอดีต ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์และผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากนโยบายของ ธปท.
พร้อมย้ำว่า ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่มีอำนาจในการแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการต่างๆ ในแบงก์ชาติ ที่ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.), คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการนโยบายระบบชำระเงิน (กรช.) รวมทั้งการทำงานของรัฐบาล แต่ก็พร้อมเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมการทำงานทั้งนโยบายการเงินและคลัง ให้ทำงานร่วมกันได้
ส่วนการประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายของปี 2567 ที่มีมติเอกฉันทน์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี นั้น ตนเคารพการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ แต่ต้องการเห็นคำอธิบายเหตุผลที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ พร้อมยังยืนยันแนวคิดที่เคยโพสต์บนเฟชบุ๊กไว้ตั้งแต่ 5 ธันวาคม 2566 ว่า “การลดอัตราดอกเบี้ยให้เร็ว และแรง คือหนทางป้องกันความหายนะ” และเมื่อถูกเสนอชื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ความเชื่อนี้ตนก็ยังคงไว้อย่างเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่อยากเห็นคือการลดดอกเบี้ย ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็ยังไม่เห็น ปีนี้ก็ยังไม่เห็น
ขณะเดียวกันสิ่งที่ตนให้ความสำคัญคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่างๆอยู่ในระดับสูง ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น และเกิดการผิดนัดชำระจำนวนมาก รวมทั้งส่วนการลดช่องระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ จะทำให้ลูกหนี้ลดความเสี่ยงเป็นหนี้เสียหรือ NPL ลงได้ การตั้งสำรองเผื่อหนี้จะลดลง และส่วนที่เคยถูกตั้งสำรองไว้แล้วจะสามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นรายได้ได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาหารือกัน
ส่วนแนวคิดที่กระทรวงการคลัง กำลังศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีนั้น ภาษีเป็นทั้งแหล่งรายได้ของรัฐและเป็นภาระของผู้จ่าย ดังนั้นการทบทวนโครงสร้างภาษีเสมอๆเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ แต่จะต้องทำความลับจนกระทั่งเกิดความมั่นใจจึงจะประกาศ เนื่องจากหากมีข่าวออกมาก่อนจะเกิดการกักตุนและเก็งกำไรสินค้าได้ ส่วนการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 15% มองว่าเป็นไปไม่ได้ อย่างมากที่สุดคือการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็น 10% ทั้งนี้การปรับภาษีเป็น ความรู้สึกของประชาชนที่เป็นผู้จ่าย หากประชาชนทราบว่าจ่ายแล้วเงินนั้นถูกนำไปทำอะไร แล้วพร้อมให้ความร่วมมือก็เป็นสิ่งที่ดี แต่หากไม่ชอบใจความนิยมทางการเมืองก็จะตกลงไปด้วย ดังนั้น ต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจอย่างละเอียดจึงเป็นเรื่องที่ดี
“หากเป็นไปได้อยากให้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เป็นตัวกลางประสาน หอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อขจัดการด้อยประสิทธิภาพ และสร้างจีดีพีที่สูงขึ้น ทุกวันนี้ทุกฝ่ายในประเทศเราเป็นดนตรีแจ็ส ทำงานกันแบบต่างคนต่างทำ ต้องทำงานประสานกัน ถึงจะหนุนจีดีพี ทำให้ประเทศเติบโตได้” นายกิตติรัตน์ กล่าว.-516-สำนักข่าวไทย