กรุงเทพฯ 11 ธ.ค.- บีไอจี จับมือ บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) พัฒนาการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นำก๊าซไนโตรเจนคาร์บอนต่ำ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ITC)
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี เปิดเผยว่า ความร่วมมือนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในการเร่งการเดินทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยการใช้ไนโตรเจนคาร์บอนต่ำจากบีไอจีจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขอบเขต 2 (Scope 2) ของเดลต้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ทั้งสองบริษัทเข้าใกล้เป้าหมาย Net Zero มากขึ้น
ในขณะที่เดลต้าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสามปี ในอุตสาหกรรมอุปกรณ์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอยู่ในรายชื่อ DJSI World ซึ่ง สะท้อนถึงบทบาทความเป็นผู้นำของเดลต้า ประเทศไทย ในด้านการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และการร่วมมือกับบีไอจีในครั้งนี้นับเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่น และเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันบีไอจี พร้อมขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
“การใช้งานไนโตรเจนคาร์บอนต่ำเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มคุณภาพของกระบวนการผลิต โดยไนโตรเจนคาร์บอนต่ำจากบีไอจีได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50% เมื่อเทียบกับไนโตรเจนในกระบวนการผลิตทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขต 2 (Scope 2) นับว่าเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายแจ็คกี้ จาง ประธานฝ่ายบริหารและปฏิบัติการ (COO) ของบริษัทเดลต้า ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การเป็นพันธมิตรกับบีไอจี จะช่วยเสริมภารกิจในการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2573 ทั้งนี้ เดลต้า ได้บูรณาการโซลูชัน Delta Smart Manufacturing (DSM) อย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุมาตรฐานอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากที่เดลต้ายังคงขยายและเพิ่มกำลังการผลิตของเราผ่านแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน รวมถึงมีการริเริ่มโครงการต่าง ๆ เช่น DSM และการใช้วัสดุจากแหล่งที่ยั่งยืน อีกด้วย -511 .-สำนักข่าวไทย