รร.ปาร์ค ไฮแอท 20 ก.ย.-คปภ. มุ่งยกระดับธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย พร้อมรับมือศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ เตรียมหารือสรรพากร ใช้มาตรการภาษีส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันเพิ่มเติมอีกหลายด้าน
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวในงาน คปภ. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “NAIC-OECD-OIC Joint Roundtable on Insurance and Retirement Saving in Asia” ว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างเผชิญกับสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี ภัยคุกคามทางไซเบอร์ การใช้นวัตกรรมออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมทั้ง ภัยทางธรรมชาติ พายุเฮอริเคน แผ่นดินไหว เกิดขึ้นในหลายพื้นล่าสุดในเม็กซิโกมีผู้เสียชีวิตนับร้อยราย จึงเป็นภัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องหาทางส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยพึ่งพาประกันภัยรองรับความรุนแรงของภัยธรรมชาติ คปภ.จึงต้องการขยายความร่วมมือกับหลายประเทศทั่วโลกผ่านองค์กรระหว่างประเทศ เพราะภัยธรรมชาติหลายประเทศจะคล้ายคลึงกัน เพื่อนำเครื่องมือลดความเสี่ยงมาปรับใช้ในประเทศแถบเอเชีย และเรียนรู้วิธีการของแต่ละประเทศนำมาใช้ในการลดความเสียหายจากความเสี่ยงของภัยด้านต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าในช่วงปี ค.ศ. 2001-2100 เป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แต่ละประเทศก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม ขณะที่ สศช. พบว่าไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 2558 มีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในช่วงปี 2571 หรือช่วง 10 ปีข้างหน้า ทำให้สังคมไทยในอนาคตขาดแคลนประชากรวัยทำงานและขาดแคลนแรงงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่สนับสนุนสวัสดิการให้ผู้สูงอายุต้องเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจประกันภัยไทยต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ตอบสนองความต้องการของสังคมผู้สูงอายุ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง
ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ตลาดประกันภัย และการกำกับดูแลด้านความมั่นคงทางการเงินในระดับภูมิภาคเอเชียให้มีมาตรฐานในการกำกับดูแล และการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ใกล้เคียงกัน เป็นไปตามมาตรฐานสากล สำนักงาน คปภ. จึงได้ร่วมกับสมาคมนายทะเบียนประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา (NAIC) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เพื่อหารือด้านประกันภัยและการออมเพื่อการเกษียณอายุในภูมิภาคเอเชีย เพื่อพัฒนาตลาดประกันภัย การออกแบบผลิตภัณฑ์การออมเงินเพื่อวัยเกษียณ (Retirement saving) เทคโนโลยีทางการเงินในด้านประกันภัย (FinTech in insurance) จึงต้องการระดมความเห็นเกี่ยวกับประกันภัยเพื่อคุ้มครองภัยคุกคามทางไซเบอร์
นายสุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีครม. เห็นชอบให้นำเบี้ยประกันสุขภาพ หักลดหย่อนภาษีได้วงเงินไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี เมื่อรวมกับเงินฝากประกันชีวิต ประกันชีวิต ทั้งสามประเภทรวมกันไม่เกิน 1 แสนบาทต่อรายต่อปี เพื่อเปิดทางให้ผู้ซื้อประกันชีวิต และประกันสุขภาพใช้สิทธิ์ให้เต็มวงเงิน 1 แสนบาท สำหรับผู้ซื้อประกันสุขภาพที่ซื้อกรมธรรม์ตั้งแต่ 1 ม.ค.60 นำมาหักลดหย่อนในการยื่นแบบภาษีของปีนี้ ยอมรับว่าประกันสุขภาพ ได้เชื่อมโยงกับประกันวินาศภัย ประกันชีวิต เมื่อ ครม.เห็นชอบประกันสุขภาพ จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเพิ่มยอดการเข้าสู่ระบบประกันน่าจะถึงร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ จากปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 40 นอกจากนี้ คปภ.ยังต้องหารือเพิ่มเติมกับกรมสรรพากร เพื่อใช้มาตรการทางภาษีส่งเสริมการเข้าถึงระบบประกันภัย ประกันชีวติเพิ่มเติม รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดจากเทคโนโลยีทางการเงินในด้านประกันภัย (FinTech in insurance) และประกันภัยผู้สูงอายุ รองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย.-สำนักข่าวไทย